กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 111.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 104.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 108.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 127.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 121.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- โฆษกของรัฐบาลลิเบียเปิดเผยว่ารัฐบาลสามารถตกลงกับกลุ่มประท้วง ส่งผลให้ท่าส่งออกน้ำมันดิบ Es Sider (340,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Ras Lanuf (220,000 บาร์เรลต่อวัน) สามารถกลับมาเปิดดำเนินการ หลังจากถูกกลุ่มผู้ประท้วงปิดไปนานร่วม 11 เดือน คาดว่ายอดผลิตน้ำมันดิบของประเทศจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ปัจจุบันลิเบียผลิตน้ำมันดิบได้ 325,000 บาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตทั้งหมด 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ความกังวลว่าสงครามกลางเมืองในอิรักจะกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบเริ่มคลายลง หลัง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ South Oil Company (SOC) ของอิรักเปิดเผยว่ายอดส่งออกน้ำมันดิบจากท่าทางตอนใต้ของประเทศในเดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ 2.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้จะลดลง 160,000 บาร์เรลต่อวัน แต่สืบเนื่องจากการปิดปรับปรุงบางส่วนของท่าส่งออก Basra มิใช่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองแต่อย่างใด
- Reuters รายงานว่าบริษัท Enterprise Product Partners ของสหรัฐฯ ขาย Condensate ปริมาณ 400,000 บาร์เรล ให้บริษัท Mitsui ของญี่ปุ่น ส่งมอบภายในเดือน ก.ค. หรือ ต้น ส.ค. 57 คาดว่าเอเชียและอเมริกาใต้จะเป็นตลาดใหญ่สำหรับ Condensate จากสหรัฐฯ หลังรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มมีทีท่าผ่อนปรนในการตีความกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบที่บัญญัติมาร่วม 40 ปี โดยพิจารณาว่า Condensate ที่ผ่านกระบวนการกำจัดก๊าซ เป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบซึ่งสามารถส่งออกได้ จุดนี้จะมีผลกดดันราคาน้ำมันดิบที่ใช้ในเอเชีย อนึ่ง สหรัฐฯ ผลิต Condensate ได้ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเอเชียตะวันออกมี Condensate Splitter กำลังการผลิตรวมราว 900,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าสหรัฐฯ จะส่งออก Condensate ได้ประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปี 57
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Markit Economics ร่วมกับ HSBC รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing
Purchasing Managers’ Index-PMI) ของจีน ในเดือน มิ.ย. 57 เพิ่มขึ้น 1.3 จุด MoM มาอยู่ที่ 50.7 จุด สูงกว่า 50 จุด (บ่งชี้เศรษฐกิจขยายตัว) เป็นครั้งแรกของปี 57 สอดคล้องกับที่สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงาน Manufacturing PMI อยู่ที่ 51.0 จุด สูงสุดของปี 57 อนึ่ง Markit/HSBC มุ่งสำรวจธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของเอกชน ส่วนตัวเลขของสำนักสถิติแห่งชาติจะเน้นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีขนาดใหญ่
- Institute of Supply Management (ISM) ของสหรัฐฯ รายงาน Manufacturing PMI ของสหรัฐฯ ใน
เดือน มิ.ย. 57 เกือบคงที่ โดยลดลงเพียง 0.1 จุด MoM มาอยู่ที่ 55.3 จุด MoM ทั้งนี้ Sub-Index ด้านยอดสั่งซื้อใหม่ (New Orders) อยู่ที่ 58.9 จุด สูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ Markit Economics รายงาน Manufacturing PMI ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 57.3 จุด สูงสุดในรอบ 4 ปี
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มิ.ย. 57 ลดลง 3.2ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 384.9 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันเร่งผลิตน้ำมันสำเร็จรูปต้อนรับวันชาติ (4 ก.ค.) โดยอัตราการกลั่นเพิ่มขึ้น 2.9% จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 91.4%
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องหลังมีสัญญาณว่าอุปทานน้ำมันดิบจากลิเบียจะเพิ่มขึ้นโดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ประกาศกลับมาส่งออกน้ำมันดิบจากท่า Es Sider ( ความสามารถในการส่งออก 340,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Ras Lanuf (ความสามารถในการส่งออก 220,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังจากที่ท่าส่งออกทั้งสองปิดดำเนินการมานานกว่า 11 เดือน โดยการส่งออกน้ำมันที่เก็บสำรอง ณ คลังที่ท่าส่งออกจะสามารถดำเนินการได้เกือบทันที ขณะที่การเปิดดำเนินการแหล่งผลิตและท่อขนส่งน้ำมันดิบที่เชื่อมต่อมายังท่าดังกล่าวนั้นคาดว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่อาจรับประกันได้ว่าการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียจะกลับมาสู่สภาพเดิมในเร็ววัน เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงมีหลายฝักหลายฝ่าย ตั้งแต่ ผู้เรียกร้องการปกครองแบบสหพันธรัฐ กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยที่เรียกร้องค่าแรงเพิ่มเติม ไปจนถึงชนเผ่าต่างๆที่เรียกร้องสวัสดิการและคุณภาพชีวิตหรือสิทธิพื้นฐานต่างๆ เช่นนี้แล้ว เหตุการณ์อาจเป็นดังเช่นท่าส่งออก Hariga (140,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่กลุ่มผู้ประท้วงหนึ่งสลายไป แต่กลุ่มผู้ประท้วงอีกกลุ่มก็เข้ามาแทนที่ สิ่งที่ประเทศอย่างลิเบียต้องการอาจจะคือ ‘จอมคน’ อย่างพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ที่สยบทุกฝักฝ่ายได้หมด ด้านสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆในตะวันออกกลาง ประธานาธิบดี Massoud Barzani แห่งเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานฉวยจังหวะที่รัฐบาลอิรักกำลังอ่อนแอ ยื่นข้อเสนอต่อสภาเคอร์ดิสถานในการทำประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดนเป็นอิสระจากประเทศอิรัก สร้างความวุ่นวายเพิ่มเติมขึ้นไปอีก สำหรับสัปดาห์นี้ ให้จับตาการประชุมระหว่างชาติมหาอำนาจ P5+1 (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี) กับอิหร่านว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่ออิหร่านลงกว่าเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะด้านการส่งออกน้ำมันดิบ เพื่อคลายความตึงตัวของอุปทานน้ำมันดิบโลกในปัจจุบันและป้องกันไว้ล่วงหน้าในกรณีที่อุปทานจากอิรักขาดหายไป สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้ กรอบความเคลื่อนไหวของ Brent และ WTI รวมไปถึง Dubai อยู่ที่ 106.7-109.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 102.2-105.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 103.8-106.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ระดับสูงในเอเชียท่ามกลางการปิดซ่อมแซมของโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่ง โดยเฉพาะในอินเดียซึ่งส่งผลให้อินเดียที่ปกติเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเบนซิน กลับต้องมานำเข้าน้ำมันเบนซินเป็นปริมาณมาก สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 123.6-126.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงเนื่องจากอุปสงค์ตกต่ำทั่วโลก แม้แต่ในกลุ่มประเทศมุสลิมโดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งนำเข้าดีเซลในเดือนรอมฎอนของปีนี้ต่ำกว่าปกติ สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 116.3-119.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล