กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อให้การกำกับดูแลและตรวจสอบการบริหารงานของสหกรณ์มีประสิทธิภาพและเกิดความโปร่งใสมากขึ้น กรมฯ จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง “กลุ่มตรวจการสหกรณ์” ภายในสำนักงานสหกรณ์จังหวัดและสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และพื้นที่ 2 ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ให้สามารถดำเนินการภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบและคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสหกรณ์มากขึ้น
“การตรวจการสหกรณ์ ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อจับผิด แต่เป็นการสอดส่องดูแลการดำเนินกิจการของสหกรณ์ให้เกิดความถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้ง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง เป็นการป้องกันขัดขวางคนที่หวังเข้ามาใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของสมาชิกสหกรณ์ที่มีต่อสหกรณ์” ดร.จุมพล กล่าว
สำหรับขั้นตอนการตรวจการสหกรณ์ กรมฯได้จัดทำระบบการตรวจการสหกรณ์เป็น 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1.การแต่งตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์ ทำหน้าที่รับผิดชอบการตรวจสอบข้อมูลของทุกสหกรณ์ 2.การมอบหมายงานอาจมอบหมายรายตัว หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอาจตั้งเป็นคณะผู้ตรวจการสหกรณ์ 3.ดำเนินการตรวจการสหกรณ์ 4.การรายงานนายทะเบียนสหกรณ์ 5.นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการ 6.ติดตามผล และ7.ประเมินผลและรายงานนายทะเบียนสหกรณ์
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ภารกิจการตรวจการสหกรณ์มีประสิทธิภาพ กรมฯจึงได้มอบให้ผู้ตรวจการสหกรณ์และกลุ่มตรวจการสหกรณ์ เน้นการตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ต่างๆใน 2 เรื่องหลักๆคือ 1.การตรวจสอบกิจการอำนวยการ เป็นการตรวจการความสามารถในการบริหาร อาทิ ด้านงานบุคคล สวัสดิการ งานตรวจกฎหมาย งานรับจ่ายเงิน งานนิติกรรมสัญญา และ 2.การตรวจสอบกิจการทางธุรกิจ คือตรวจสอบความสามารถในการจัดการธุรกิจของสหกรณ์ ตามหลักการที่ว่าการดำเนินธุรกิจต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบรรดาสมาชิก
“ถ้าตรวจสอบพบข้อผิดพลาด หรือสิ่งที่ควรปรับปรุง กรมฯจะแนะนำสหกรณ์ดังกล่าวให้ดำเนินการแก้ไข เพื่อลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสมาชิกของสหกรณ์ ส่วนกรณีที่ตรวจพบสหกรณ์ซึ่งส่อทุจริต หรือไม่โปร่งใส กรมฯจะเข้าไปดำเนินการหาทางป้องกันและหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขยายผลหรือปัญหาการทุจริตรุนแรงที่จะสร้างความเสียหายของกับสมาชิกของสหกรณ์ และท้ายสุดกรณีตรวจพบสหกรณ์ที่ทำการฉ้อโกง หรือทุจริตก็จะเร่งดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด” ดร.จุมพลกล่าว