กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กร บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดย DBS Vickers Securities Holdings Pte., Ltd. (DBSVSH) หนึ่งในสมาชิกในกลุ่มธนาคารดีบีเอสในประเทศสิงคโปร์ ที่ระดับ “A-” แนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตของบริษัทมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารดีบีเอสซึ่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและอื่น ๆ แก่บริษัท ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและทรัพยากร รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจกับลูกค้าในฐานลูกค้าของกลุ่มธนาคารดีบีเอส อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันจากการลดลงของอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2555 ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่ สะท้อนถึง ความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาด และผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในระยะปานกลาง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่รุนแรง และแรงกดดันจากแนวโน้มที่ลดลงของอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หลังการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงฐานะการเป็นบริษัทที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ที่มีบทบาทในธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับสากลของกลุ่มธนาคารดีบีเอส และจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสต่อไป ทริสเรทติ้งยังคงคาดหวังว่า บริษัทจะกระจายการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ และออกผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
บล. ดีบีเอส วิคเคอร์สดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลักโดยมีธุรกิจสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งทางการเงิน ฐานะทางการเงินและการกระจายตัวด้านรายได้ของบริษัทดีขึ้นตั้งแต่ปี 2554 รายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นรายได้หลักที่คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 82% ของรายได้รวมในปี 2556 ลดลงจากสัดส่วน 84% ในปี 2555 รายได้จากดอกเบี้ยซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของรายได้รวมในปี 2556 รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจของบริษัทเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการมีจำนวน 21 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของรายได้รวมในปี 2556 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 2.4% ในปี 2555 ทั้งนี้ กำไรและขาดทุนจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทระงับธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ในนามของบริษัทเอง (Proprietary Trading)
ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.63% ในปี 2554 จาก 2.53% ในปี 2553 และ 2.01% ในปี 2552 ส่วนแบ่งทางการตลาดปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 2.87% ในปี 2555 และคงตัวในระดับ 2.84% ในปี 2556 และ 2.86%ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 16 จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 33 ราย การสนับสนุนอย่างเต็มที่อย่างต่อเนื่องจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสช่วยให้บริษัทสามารถรักษาฐานะทางการตลาดเอาไว้ได้ ภายใต้สภาวะความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศต่อตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายจากลูกค้าของกลุ่มธนาคารดีบีเอสคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายในปี 2556 ของบริษัท
เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์รายอื่น บริษัทได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2555 อัตราเฉลี่ยของค่านายหน้าของบริษัทอยู่ในระดับ 0.14% ในปี 2555 และ 0.11% ในปี 2556 ซึ่งเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันที่รุนแรงจะยังคงดำเนินต่อไปหลังจากการเปิดเสรีเต็มรูปแบบเมื่อปี 2555 และจะสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการทำรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในอนาคต
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากวิกฤตในปี 2551 เนื่องจากภาวะตลาดเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2552 บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิสำหรับปี 2552 จำนวน 34 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 80 ล้านบาท และปี 2554 จำนวน 82 ล้านบาท ในปี 2555 บริษัทได้กำไรสุทธิจำนวน 122 ล้านบาท หากไม่รวมรายการพิเศษจากการกลับรายการหนี้สูญกำไรสุทธิของบริษัทจะเท่ากับ 58 ล้านบาท และในปี 2556 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 108 ล้านบาท ตามการลดลงของค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ย อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิได้รับการชดเชยในสัดส่วนที่มากกว่าจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากการเปิดเสรีคาดว่าจะค่อย ๆ จำกัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมการสร้างเสถียรภาพความสามารถในการทำรายได้โดยการขยายงานไปยังธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ และออกผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ในระดับ 2.8 พันล้านบาทในปี 2555 และเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 3.8 พันล้านบาทในปี 2556 โดยสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คงค้างคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53% ของสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้นจาก 1,117 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 2,040 ล้านบาทในปี 2556 จากการที่บริษัทมีปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คงค้างคิดเป็นสัดส่วน 4.46% ของทั้งอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การขยายสินเชื่อควบคู่กับมาตรการในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดยิ่งขึ้นน่าจะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรจากธุรกรรมนี้ได้
บริษัทมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำจากการลงทุน อีกทั้งยังคงมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอ ณ เดือนธันวาคม 2556 บริษัทใช้วงเงินกู้ยืมไปประมาณ 32.8% จากวงเงินทั้งสิ้น 2.66 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ภายในประเทศ วงเงินจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสจำนวน 390 ล้านบาทยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องและความยืดหยุ่นอีกด้วย โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนตัวลงในปี 2556 เนื่องมาจากการจ่ายเงินปันผลจำนวน 100 ล้านบาท และการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีทุนที่เพียงพอสำหรับการประกอบธุรกิจโดยส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 1,069 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2555 ในขณะเดียวกันก็มีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule -- NCR) อยู่ที่ระดับ 51.6% ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ค่อนข้างมาก
บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (DBSVT)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable