กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มลูกค้าสถาบันและลูกค้าบุคคลรายใหญ่ ตลอดจนความเป็นผู้นำในธุรกิจวาณิชธนกิจ และภาพลักษณ์ที่ดีจากประสบการณ์อันยาวนาน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประโยชน์จากการผสานความร่วมมือภายในกลุ่มและการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต “A-/Positive” จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันต่ออัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายหลังการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดก็มีผลต่ออันดับเครดิตด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า บล. ภัทร จะสามารถคงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำในธุรกิจวาณิชกิจและธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการเพื่อควบคุมความเสี่ยงซึ่งแฝงอยู่ในธุรกิจการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ได้
ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บล. ภัทร มีฐานลูกค้านักลงทุนสถาบันและโครงสร้างธุรกิจที่เข้มแข็ง การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Bank of America Merrill Lynch (ML) ช่วยให้บริษัทได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูล ความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายนักลงทุนทั่วโลกของ ML งานวิจัยของบริษัทก็ได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพระดับแนวหน้าของประเทศ ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในส่วนของนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศในปี 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 9.7% และ 8.6% ตามลำดับ
จุดแข็งอีกประการหนึ่งของบริษัทคือการให้บริการที่ปรึกษาการลงทุน ซึ่งบริษัทเน้นลูกค้าบุคคลรายใหญ่โดยมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายครอบคลุมสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ การให้บริการที่แตกต่างทำให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับบริษัทหลักทรัพย์อื่นได้
บล. ภัทร มีประสบการณ์ด้านวาณิชธนกิจในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่บริษัทมีกับบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก ประกอบกับการมีเครือข่ายภายในประเทศและต่างประเทศที่เข้มแข็งน่าจะช่วยรักษาความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจนี้ได้ รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจของบริษัทตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับเฉลี่ย 335 ล้านบาทต่อปี (คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดราว 20%) ภายหลังการควบรวมกิจการกับธนาคารเกียรตินาคิน บริษัทจะสามารถให้บริการทางการเงินที่ครบถ้วนมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการระดมทุนของลูกค้า ซึ่งน่าจะช่วยเสริมความเข้มแข็งในธุรกิจวาณิชธนกิจให้แก่บริษัทต่อไปในระยะยาว
ธนาคารเกียรตินาคินได้กลายมาเป็นบริษัทแม่ของบริษัทในเดือนกันยายน 2554 หลังจากธนาคารเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 99.9% ใน บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัททุนภัทรถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 99.8% การเป็นบริษัทลูกของธนาคารเกียรตินาคินทำให้บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อ 6,350 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินให้ใช้ร่วมกันในกลุ่มตลาดทุนของธนาคาร แหล่งเงินทุนเพิ่มเติมนี้ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานให้แก่ บล. ภัทร อย่างไรก็ตาม หลังจากมีวงเงินสินเชื่อดังกล่าว บริษัทมีแผนจะเพิ่มวงเงินในธุรกิจการลงทุนในสัดส่วนที่สูง ซึ่งแม้ว่ากลยุทธ์การลงทุนของบริษัทจะมีลักษณะที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่ผันผวนตามการเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวม แต่การเพิ่มขึ้นของธุรกรรมที่มีความเสี่ยงแฝงอยู่เหล่านี้ย่อมเป็นปัจจัยที่กระทบต่อความเสี่ยงโดยรวมของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าระบบบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทจะยังคงมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากธุรกิจการลงทุนของบริษัท
กำไรสุทธิของบริษัทในปี 2556 โตขึ้น 129% มาอยู่ที่ 1,309 ล้านบาท จาก 571 ล้านบาทในปี 2555 โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นและรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับที่ดีและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในระดับต่ำเทียบกับคู่แข่ง อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ในระดับ 39% ในปี 2556 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับสูงกว่า 50%
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 บล. ภัทร มีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทจัดอยู่ในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่มีฐานเงินทุนใหญ่ 10 อันดับแรก แม้จะมีฐานเงินทุนขนาดใหญ่ แต่บริษัทก็จัดว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อทุนที่สูงมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยอัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 เทียบกับ 2.8 เท่า ณ สิ้นปี 2555 และ 1.9 เท่า ณ สิ้นปี 2554 การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนนี้มาจากการขยายธุรกิจการลงทุนและการป้องกันความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่บริษัทออกขายแก่ลูกค้า อัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปของบริษัทอยู่ที่ 37% ณ สิ้นปี 2556 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 7% ตามที่ทางการกำหนดไว้
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (PHATRA)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable