กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรและกรมชลประทาน เร่งหาทางในการบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณเพียงพอเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบ เพื่อจะได้วางแผนบริหารจัดการพื้นที่เกษตรในการสำรองน้ำเพื่อใช้การการเพาะปลูกต่อไป เนื่องจากข้อมูลค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนรวมของปีนี้มีปริมาณน้อยกว่ากว่าเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้น้ำไหลลงเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้อยตามไปด้วย โดยปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำในอ่าง 4,163 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 31 % เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 3,249 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 34% เท่านั้น ขณะเดียวกัน ในบางพื้นที่พบภาวะปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยล่าสุดมีจังหวัดที่ยังคงได้รับผลกระทบและประกาศเป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) อีกจำนวน 3 จังหวัด 20 อำเภอ 133 ตำบล 1,468 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ สุรินทร์ และนครราชสีมา
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรที่สำคัญอย่างใกล้ชิด ทั้งปัญหาภัยแล้ง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า การเติมน้ำในเขื่อน รวมทั้งปัญหาฝนทิ้งช่วง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ทันต่อสถานการณ์ความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชน โดยเฉพาะปัญหาฝนทิ้งช่วงนั้น กรมฝนหลวงฯ ได้ดำเนินการตั้งแต่มิถุนายน-กรกฎาคม 57 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงกลางฤดูเพาะปลูก ซึ่งปกติมักประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้พืชผลการเกษตรอื่นๆ ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ กรมฝนหลวงฯ ยังมีแผนเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนเป้าหมายขนาดใหญ่ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 57 รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนต่างๆ โดยมีเป้าหมายให้มีปริมาณน้ำกักเก็บไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯอีกด้วย” นายชวลิต กล่าว
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึงผลดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งที่ผ่านมา ว่า กรมฝนหลวงฯได้เข้าไปปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ 72.02% ภาคกลาง 90.83% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 51% ภาคตะวันออก 78.73% และภาคใต้ 40.22% ซึ่งหากมองในภาพรวมถือว่าการปฏิบัติการของกรมฝนหลวงดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่และเกินเป้าหมาย
“ ที่ผ่านมากรมฝนหลวงฯ ได้ปรับปรุงการทำงานให้มีความทันสมัย ทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ได้จัดตั้งอาสาสมัครฝนหลวงเป็นเครือข่ายการประสานข่าวสารข้อมูลกระจายทั่วประเทศ นอกจากนี้ประชาชนสามารถขอฝนหลวงในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งไปยัง คอลเซ็นเตอร์ 1170 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสามารถรับข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงฯ ผ่านแอพพลิเคชั่น “ฝนหลวง”ได้ทุกเวลาอีกด้วย” นายสุรสีห์ กล่าว