กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สมาคมประกันวินาศภัยไทย
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เป็นประธานในพิธีลงนามลงนามสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน (Knock For Knock) ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1 สำหรับรถยนต์ทุกประเภท ระหว่างบริษัทผู้ประกอบการรับประกันภัยรถยนต์ 14 บริษัท โดยขยายความคุ้มครองถึงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 สำหรับรถยนต์ทุกประเภท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของการพัฒนาการให้บริการของบริษัทประกันวินาศภัย ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเร็วๆ นี้
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ในฐานะที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย การลงนามสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1 สำหรับรถยนต์ทุกประเภทนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของการพัฒนาการให้บริการของบริษัทประกันวินาศภัย ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอพิจารณาความรับผิด อันจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัย นอกจากนี้ ยังเป็นการลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานรวมถึงข้อพิพาทระหว่างกันของบริษัทประกันภัยอีกด้วย
นายไพบูลย์ จิรายุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ กล่าวถึงรายละเอียดและวัตถุประสงค์การจัดทำสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันดังกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากบริษัทประกันวินาศภัยที่เป็นบริษัทผู้ประกอบการรับประกันภัยรถยนต์ ได้ร่วมลงนามในสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โดยมีผลใช้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 และต่อมาได้มีบันทึกเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดข้อพิพาทในการเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างบริษัทประกันภัย รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเรียกร้องระหว่างกัน ส่งผลให้จำนวนข้อพิพาทและค่าใช้จ่ายของบริษัทประกันภัยลดลงเป็นอย่างมาก และบริษัทประกันวินาศภัยสามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอพิจารณาความรับผิด
สำหรับการลงนามในสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1 ในครั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ได้มีการขยายความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้ความคุ้มครองถึงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 สำหรับรถยนต์ทุกประเภท การดำเนินการร่วมกันในครั้งนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบการรับประกันภัยรถยนต์ร่วมลงนาม จำนวน 14 บริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันภัยมีแนวปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกัน อันจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป
นายไพบูลย์ จิรายุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามในสัญญาดังกล่าว ยังสอดคล้องกับการดำเนินการโครงการ “ชนแล้วแยก” ในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับ ผู้เอาประกันภัย และการส่งเสริมให้ผู้ขับขี่รถยนต์หรือผู้เอาประกันภัยนั้นใช้เอกสารชนแล้วแยก ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์บนท้องถนน เพื่อเป็นการลดปัญหาการจราจร ประหยัดเวลา ตลอดจนเพื่อเป็นการลดข้อพิพาท โดยคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ ได้มีการจัดพิมพ์และแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ตัวเค และจัดอบรมทักษะการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า (Call Center) ของบริษัทประกันภัย เพื่อสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และสามารถสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยได้อย่างถูกต้องชัดเจน และจากการดำเนินโครงการ ชนแล้วแยกมาระยะหนึ่งแล้วนั้น พบว่า ผู้เอาประกันภัยส่วนมากไม่สะดวกต่อการใช้งานสติ๊กเกอร์ตัวเค กับเอกสารชนแล้วแยก ซึ่งเอกสารทั้ง 2 ไม่ได้อยู่ฉบับเดียวกัน ดังนั้น คณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ จึงได้ปรับปรุงรูปแบบของสติ๊กเกอร์ตัวเค และเอกสารชนแล้วแยกใหม่ โดยสติ๊กเกอร์ตัวเค และเอกสารชนแล้วแยก จะอยู่ในใบเดียวกัน โดยจะระบุวิธีการแนะนำการใช้อย่างชัดเจน โดยผู้เอาประกันภัยสามารถนำสติ๊กเกอร์ชนแล้วแยกแบบใหม่ไปติดไว้ที่ด้านหน้าของกระจกรถยนต์ และหากเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ที่มีสติ๊กเกอร์ชนแล้วแยกเหมือนกัน ผู้เอาประกันภัยสามารถกรอกรายละเอียดในสติ๊กเกอร์ชนแล้วแยกนี้ แลกเอกสารกันและสามารถแยกแยกย้ายได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลารอพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุ ซึ่งสติ๊กเกอร์และเอกสารชนแล้วแยกรูปแบบใหม่นี้จะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยเข้าใจและสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นการประหยัดเวลา ลดปัญหาการจราจร และที่สำคัญเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยมากยิ่งขึ้น