กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--คอร์แอนด์พีค
ไข้หวัดจัดเป็นการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นที่พบได้บ่อย จากการสำรวจจากประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานผู้ป่วยเป็นไข้หวัดต้องได้รับการรักษามากกว่าหนึ่งพันล้านครั้งต่อปี ในประเทศไทยยังไม่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการแต่เป็นที่ทราบกันดีถึงความชุกของโรคไข้หวัดในบ้านเรา ไข้หวัดพบได้บ่อยกว่าในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานรับเลี้ยงเด็ก
ไข้หวัดคืออะไร และทำไมเราจึงติดไข้หวัด?
ไข้หวัดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายได้จากการไอและจาม แต่การติดต่อที่สำคัญที่สุดคือการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากจมูก ปาก และดวงตาหลังจากสัมผัสกับบุคคลที่เป็นโรค และความเข้าใจที่ว่าเราอาจป่วยเป็นไข้หวัดได้จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทั้งร้อนและเย็นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอาการโดยทั่วไปของไข้หวัดมักจะเกิดขึ้น 2-3 วันหลังจากการรับเชื้อ โดยผู้ป่วยจะมีน้ำมูกไหล แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก จาม ระคายคอ อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ ๆ หรือไอแห้ง ๆ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการดังกล่าวได้นานถึง 1-2 สัปดาห์ในบางกรณี ในบางคนที่มีอาการนานกว่า1-2 สัปดาห์ท่านอาจมีภาวะภูมิแพ้ร่วมด้วยหรืออาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม แต่หากท่านมีอาการไข้สูง หายใจลำบากร่วมกับผื่นหรืออ่อนเพลียมาก ควรพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เนื่องจากอาจเป็นอาการนำของไข้หวัดใหญ่หรือการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ การรักษาไข้หวัดทำได้โดยการรักษาประคับประคองตามอาการโดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
ไข้หวัดใหญ่คืออะไร ?
ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่มี 3 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ คือสายพันธุ์ เอ บีและซี กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ปีนี้น่าเป็นห่วง คาดจำนวนผู้ป่วยจะมากกว่าปีพ.ศ. 2556 เชื้อต้นเหตุคือสายพันธุ์เอ เอช 1 เอ็น 1 หรือ 2009 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 - 22 มีนาคม 2557 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 23,899 ราย เสียชีวิต 24 ราย กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุดคือ เด็กและเยาวชน จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ ระยอง อุตรดิตถ์ และพะเยา การแพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่ไม่แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป ช่วงเวลาที่พบการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูหนาว แต่สถานการณ์ของปีนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะพ้นฤดูหนาวไปแล้วก็ตาม ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเช่นรับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรคปอดและหัวใจเรื้อรัง หรือผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่อายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสเกิดโรครุนแรงกว่าผู้ป่วยรายอื่น ผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง หรือมีอาการดังที่ได้แสดงในตารางที่ 1 แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำถึงการรักษา และในบางกรณีแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย
เราจะป้องกันการติดไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร?
การติดต่อของเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถพบได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนจะเริ่มมีอาการจนถึง 5 วันหลังจากเริ่มป่วย ผู้ที่กำลังป่วยแนะนำให้หยุดพักงาน หมั่นล้างมือ คาดหน้ากากป้องกันเชื้อแพร่สู่คนอื่น ส่วนประชาชนทั่วไปให้ป้องกัน โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ รับประทานอาหารปรุงสุกและใช้ช้อนกลางกินอาหารร่วมวงกับคนอื่น
การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนจะถูกผลิตใหม่ทุกปีเนื่องจากไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลาในแต่ละปี ในปัจจุบันแนะนำผู้ที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง มีโรคประจำตัวเช่นโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหัวใจควรรับวัคซีนในทุกปี ส่วนบุคคลทั่วไปที่ต้องการรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดการป่วยและความรุนแรงของโรคในกรณีที่จะเดินทางไปในบริเวณที่มีการแพร่กระจายของโรคอยู่ก็สามารถขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ก่อนการเดินทางอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ทันก่อนเดินทาง ผลข้างเคียงของวัคซีนมักจะไม่รุนแรงเช่น มีอาการเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน ไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อใน 1-2 วันหลังจากการฉีดวัคซีน ส่วนยาต้านเชื้อไวรัสอาจพิจารณาโดยแพทย์โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง