กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
พญ.อริยา ทิมา อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา รพ.รามคำแหง ได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับปัญหาอาการแทรกซ้อนของโรคภัยไข้เจ็บที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวาน โดยครอบคลุมถึงปัญหาอาการต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมิใช่จะก่อให้เกิดความกังวลใจแก่ตัวผู้ป่วยเท่านั้น หากแต่คนใกล้ชิดในครอบครัวที่ต้องดูแลก็พลอยห่วงใยไปด้วย เพราะเป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ อันตรายจากการเกิดโรคแทรกซ้อนมักจะรุนแรงมาก ทั้งนี้ พญ.อริยา ทิมา เผยว่า “โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีปัญหาน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งโรคนี้มีอยู่สองชนิด ชนิดที่ 1 คือ เบาหวานอายุน้อย จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน แบบที่ 2 คือ อ้วนลงพุง ไม่สามารถเอาอินซูลินไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ทั้งสองชนิดเมื่อเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดเส้นเลือดฝอยอักเสบ ทำให้เกิดการอุดตัน ส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหาก็จะเริ่มจากเส้นเลือดฝอยที่อยู่ไกลสุด นั่นคือเส้นประสาทที่เท้าทำให้เกิดลักษณะเฉพาะคือ อาการชาที่เกิดจากเบาหวาน มักเป็นจากเส้นเลือดฝอยก่อน”
ดังนั้น ผู้ป่วยรวมทั้งผู้ใกล้ชิดที่ต้องดูแลจึงควรมีข้อมูลและต้องสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับระบบประสาทของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถแยกแยะได้ถึงความผิดปกติ เช่น การสูญเสียการรับความรู้สึก ที่อาจเริ่มจากชาตามปลายนิ้วและลุกลามต่อไปยังส่วนอื่น ซึ่งจะแตกต่างกับอาการที่เกิดกับคนทั่วไป เช่น ผังผืดกดทับเส้นประสาท เมื่อต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ หรือเวลานั่งขัดสมาธิไหว้พระ เวลานานแล้วรู้สึกยกข้อเท้าไม่ได้นั้น เป็นผลจากการที่เลือดมาเลี้ยงเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับได้ไม่พอ ส่วนอาการชาที่เกิดกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเกิดมากกว่าคนทั่วไปเส้นประสาทไม่ได้ถูกกดทับ คือ เกิดขึ้นแม้จะอยู่เฉยๆ ก็อาจมีอาการชาเกิดขึ้นจากปลายเท้าแล้วเลื่อนขึ้นมาเรื่อยๆ
ยิ่งกว่านั้น ถึงแม้ร่างกายของผู้ป่วนส่วนที่สูญเสียการรับรู้ความรู้สึกได้สัมผัสกับของร้อนหรือเย็น หรือแม้กระทั่งได้รับบาดแผลก็จะทำให้เจ้าตัวเกิดความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ “เท้า” ซึ่งหากประสาทการรับรู้ที่เท้าสูญเสียไปแล้วจะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเมื่อเดินไปเหยียบตะปูหรือของมีคม ที่สำคัญคือแผลของผู้ป่วยเบาหวานจะหายช้ากว่าคนปกติ หากได้รับการดูแลไม่ดีอาจทำให้เกิดการลุกลามจนอักเสบและติดเชื้อได้
พญ.อริยา ทิมา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วหากควบคุมอาการอยู่ก็ไม่เกิดปัญหา แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ เบาหวานเป็นจุดเริ่มของโรคแทรกซ้อนที่อันตรายมาก ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรให้ความสำคัญในการควบคุมอาการของโรค และระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพราะหากเกิดการผิดพลาดตรงจุดนี้ จะทำให้โรคแทรกซ้อนจากเบาหวานโรคใดโรคหนึ่งหรือหลายโรคโรคตามมา ดังเช่น ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทซึ่งจะส่งผลให้เส้นประสาทบริเวณดังกล่าวไม่สามารถนำความรู้สึกต่อไปได้ เช่น รู้สึกชาหรือปวดแสบ ปวดร้อนตามปลายมือ ซึ่งหากมีแผลแล้วผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวและไม่ดูแลแผลดังกล่าว ประกอบกับการมีน้ำตาลในเลือดสูงจึงเป็นอาหารอย่างดีให้กับเหล่าเชื้อโรค ทำให้แผลเน่าจนนำไปสู่การถูกตัดอวัยวะในที่สุด สำหรับในรายผู้ป่วยชาย อาจมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในระยะต่อไป