กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว โดย ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ป่วยจิตเวช ว่า จากเหตุการณ์นี้ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคทางจิตเวชมากขึ้น ซึ่งโรคทาง จิตเวชเป็นโรคเรื้อรังและเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยควบคุมตนเองได้ไม่ดี ต้องดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ สาเหตุของการเกิดโรคมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การดูแลผู้ป่วยจิตเวชนั้น มีอยู่ 2 ประการสำคัญ คือ 1.ต้องดูแลไม่ให้ขาดยา เป็นอันขาด และ 2. ครอบครัวหรือคนรอบข้างต้องช่วยกันดูแลผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ เพราะหากเกิดสภาพแวดล้อมที่แปลกแยกหรือกดดัน กีดกัน รังเกียจ อาจเพิ่มปัญหาต่อการรักษามากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกดดัน ปลีกตัว หรืออาละวาดขึ้นมาได้ ประกอบกับ ต้องให้ความรัก ความห่วงใย เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ผู้ป่วยขาดยา หากผู้ป่วยปฏิเสธการทานยาควรปรึกษาจิตแพทย์ทันที หรือหากมีข้อสงสัย สามารถโทร.ปรึกษาได้ที่สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวช นพ.สุวัฒน์ มหัตนิรันดร์กุล ผอ.รพ.ศรีธัญญา ได้แนะแนวทางการสังเกตอาการทางจิตกำเริบ ได้แก่ นอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ พฤติกรรมก้าวร้าว หวาดกลัว และอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ถ้าพบ ให้รีบพาไปพบแพทย์หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1323 อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า โรคทางจิตเวชทุกโรค สามารถรักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ และผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้เป็นอันตรายหมดทุกคน ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้เหมือน คนปกติทั่วไป แต่ต้องไม่ขาดยา ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา เมื่ออาการดีขึ้นมักจะละเลยการรับประทานยาหรือละเลยการฉีดยาอย่างต่อเนื่อง บางราย พบว่า มีการดื้อไม่ยอมรับประทานยา ซึ่งพฤติกรรมขาดยาเป็นอันตรายอย่างมาก ต่อการรักษา ถ้าขาดยาประมาณ 2-3 เดือน อาการจะกำเริบ ถึงขั้นหลอน หรือคลุ้มคลั่งได้ในทันที นอกจากนี้ การใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอาการกำเริบรุนแรงแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ และยาเสพติดจะไปกระตุ้นสมองโดยตรง มีผลต้านฤทธิ์ยาที่แพทย์ใช้รักษาเพื่อควบคุมอาการ ทำให้ควบคุมอาการไม่ได้ เกิดอาการประสาทหลอน หลงผิด หูแว่ว ที่สำคัญ คือ ครอบครัวต้องให้ความรัก ความห่วงใย ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เป็นกำลังใจ และระวังอย่าให้ผู้ป่วยเครียด