กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--โฟร์ พี แอดส์
กรมควบคุมโรคจับมือกระทรวงคมนาคมเดินหน้ารณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในยานพาหนะสาธารณะทุกชนิด นำร่องเทศกาลเข้าพรรษานี้ หลังผลสำรวจ DDC Poll ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้มีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยร้อยละ 73.62 ต้องการให้มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารในยานพาหนะสาธารณะทุกชนิดทั้งเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถโดยสาร ที่มีอาการไอ มีน้ำมูก ใส่หน้ากากป้องกันโรค และร้อยละ 78.83 ต้องการให้มีข้อบังคับให้มีจุดล้างมือ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์บนเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถโดยสารด้วย
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ภายหลังการมอบอุปกรณ์ป้องกันควบคุมโรคและสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แก่ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมว่า จากรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศ โดยสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรคพบว่าตั้งแต่ 1 ม.ค. - 6 ก.ค. 2557 มีผู้ป่วย 41,196 ราย เสียชีวิต 56 ราย และยังคงพบรายงานผู้ป่วยรายใหม่อย่างต่อเนื่อง ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ตามลำดับ คาดว่าในปีนี้จะมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต โดยรวมทั้งประเทศตลอดทั้งปีมากกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ทำการสำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโรคไข้หวัดใหญ่หรือ DDC Poll จากกลุ่มตัวอย่าง 23 จังหวัด จำนวน 3,010 ราย ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 73.62 ต้องการให้มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารในยานพาหนะสาธารณะ ทั้งบนเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถโดยสารที่มีอาการไอ มีน้ำมูก ต้องใส่หน้ากากป้องกันโรค และร้อยละ 78.83 ต้องการให้มีข้อบังคับให้บนเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถโดยสาร มีจุดล้างมือหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ด้วย
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่าผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้มีมาตรการในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดและป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ในยานพาหนะสาธารณะ กรมควบคุมโรคจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมจัดกิจกรรมรณรงค์การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในยานพาหนะสาธารณะขึ้น เป็นการนำร่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ โดยได้มอบอุปกรณ์ป้องกันควบคุมโรค ทั้งหน้ากากป้องกันโรค เจลล้างมือ ซีดีสปอตวิทยุ และสื่อประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งโปสเตอร์ แผ่นพับ สติ๊กเกอร์ ให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้นำไปเผยแพร่ให้ประชาชนที่โดยสารยานพาหนะสาธารณะได้มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้
“สำหรับข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อใช้บริการยานพาหนะสาธารณะมีข้อปฏิบัติ ดังนี้ 1.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ในกรณีที่มือไม่เปื้อนมาก 2.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น 3.ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด 4.สวมหน้ากากป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเมื่อมีอาการป่วย หรือการได้รับเชื้อจากผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ และ 5.ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด
ด้านนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากระทรวงคมนามคมในฐานะผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทที่ประชาชนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถไฟ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร หรือเครื่องบิน ฯลฯ ในขณะที่ในแต่ละวันจะมีประชาชนที่เดินทางสัญจรโดยยานพาหนะดังกล่าวนับหลายแสนคน โดยเฉพาะเทศกาลต่างๆ รวมถึงเทศกาลเข้าพรรษาจะมีการสัญจรกันมากเป็นพิเศษ ถ้าหากมองในมุมกว้างยานพาหนะแทบทุกชนิดที่กล่าวมา รวมทั้งเจ้าที่ผู้ปฏิบัติงานอาจกลายเป็นสื่อกลางในการแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ได้หากไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอ จึงนับเป็นสิ่งที่ดีที่กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มารณรงค์ให้ความรู้เรื่องการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในยานพาหนะสาธารณะในวันนี้ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนมอบชุดอุปกรณ์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ โปสเตอร์ และสื่อความรู้ต่างๆ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะแจกจ่ายอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมทั้งสื่อความรู้เรื่องการป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ครอบคลุมยานพาหนะทุกประเภทที่อยู่ในความดูแล ในขณะเดียวกันก็จะมีการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในยานพาหนะนั้นๆ เพื่อสามารถให้คำแนะนำและแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้โดยสารที่มีอาการป่วยต้องสงสัยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ไว้ใช้ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นด้วย โดยจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในยามปกติและในเทศกาลวันหยุดยาวอย่างวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่มาถึงนี้ รวมถึงวันหยุดในเดือนสิงหาคมคือวันแม่แห่งชาติด้วย
“ส่วนมาตรการป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่หรือพนักงานผู้ปฏิบัติงานในยานพาหนะสาธารณะ หากมีอาหารป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ กรณีที่มีอาการรุนแรงจะให้หยุดงานทันที ส่วนกรณีที่ป่วยไม่มากจะให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันเพราะพนักงานต้องมีการสัมผัสกับผู้โดยสารตลอดทั้งวัน จึงมีโอกาสเป็นทั้งผู้รับและผู้แพร่เชื้อได้” รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวปิดท้าย