กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
เสียงสะท้อนของนักเรียนนักศึกษาหญิงอายุ 12 ปีขึ้นไปต่อคดีข่มขืนและการถูกคุกคามทางเพศ : กรณีศึกษาตัวอย่างนักเรียนนักศึกษาหญิงผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
นางสาว กนิษฐา ไทยกล้า รองประธานมาสเตอร์โพลล์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง เสียงสะท้อนของนักเรียนนักศึกษาหญิงอายุ 12 ปีขึ้นไปต่อคดีข่มขืนและการถูกคุกคามทางเพศ กรณีศึกษาตัวอย่างนักเรียนนักศึกษาหญิงผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ จำนวนทั้งสิ้น 459 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.8 เคยถูกคุกคามทางเพศในรูปแบบต่างๆ เช่น พูดจาลวนลาม ใช้สายตา ถูกเนื้อต้องตัว พยายามสำเร็จความใคร่ จนถึงสำเร็จความใคร่ จากการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟ แท๊กซี่ รถเมล์ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 25.2 ไม่เคย
เมื่อถามถึง ความคิดเห็นต่อ โทษประหารชีวิตในคดีข่มขืน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 99.6 เห็นด้วย ในขณะที่เพียงร้อยละ 0.4 ไม่เห็นด้วย
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.7 รู้สึกหวาดกลัวต่อปัญหาข่มขืนและการคุกคามทางเพศและเมื่อสอบถามถึงสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ถูกคุกคามทางเพศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.0 ระบุโวยวาย ร้องขอให้คนพบเห็นช่วยเหลือให้ปลอดภัย ร้อยละ 21.4 โทรหาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน ร้อยละ 8.9 ถ่ายรูปใช้เทคโนโลยีเป็นหลักฐานส่งให้คนอื่นทราบ เช่น ไลน์ เฟสบุค มือถือ เป็นต้น และร้อยละ 1.6 โทรหาตำรวจ 191 และร้อยละ 1.1 ระบุอื่นๆ เช่น สังเกต บันทึกสภาพแวดล้อม ดูทางหนีเอาตัวรอด เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 ของนักเรียนนักศึกษาหญิงระบุ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ช่วยได้ เป็นที่พึ่งได้ในการจัดระเบียบสังคม ป้องกันเหตุร้ายให้นักเรียนนักศึกษาหญิงปลอดภัย
นางสาวกนิษฐา ไทยกล้า รองประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ความรู้สึกของนักเรียนนักศึกษาหญิงมีความหวาดกลัวต่อปัญหาการคุกคามทางเพศและปัญหาข่มขืน นักเรียนนักศึกษาหญิงเหล่านี้วอนผู้พบเห็นเหตุการณ์ช่วยเหลือให้ปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรวดเร็วใส่ใจกับปัญหาเมื่อได้รับแจ้งเหตุให้มากขึ้น ดังนั้น สังคมต้องช่วยกันดูแลและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้องรีบหาทางเยียวยาความรู้สึกของนักเรียนนักศึกษาหญิงในสังคมไทยให้มีความรู้สึกปลอดภัยกลับคืนมา
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.8 อายุระหว่าง 12 – 19 ปี และร้อยละ 46.2 อายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ทั้งหมดเป็นนักเรียนนักศึกษาหญิงพักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรีและสมุทรปราการ
โปรดพิจารณารายละเอียดดังต่อไปนี้
ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสบการณ์เคยถูกคุกคามทางเพศในรูปแบบต่างๆ เช่น พูดจาลวนลาม ใช้สายตา ถูกเนื้อต้องตัว พยายามสำเร็จความใคร่ จนถึงสำเร็จความใคร่ จากการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟ แท๊กซี่ รถเมล์
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่ ประสบการณ์เคยถูกคุกคามทางเพศ ค่าร้อยละ
1 เคย 74.8
2 ไม่เคย 25.2
รวมทั้งสิ้น 100.0
ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ โทษประหารชีวิต ในคดีข่มขืน
ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ
1 เห็นด้วย 99.6
2 ไม่เห็นด้วย 0.4
รวมทั้งสิ้น 100.0
ตารางที่3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความหวาดกลัวต่อปัญหาข่มขืน และการคุกคามทางเพศ
ลำดับที่ ความหวาดกลัว ค่าร้อยละ
1 หวาดกลัว 91.7
2 ไม่หวาดกลัว 8.3
รวมทั้งสิ้น 100.0
ตารางที่4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เมื่ออยู่ในเหตุการณ์ถูกคุกคามทางเพศ สิ่งที่ต้องทำอะไรเป็นอันดับแรก (ตอบได้เพียงข้อเดียว)
ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ
1 โวยวาย ร้องขอให้คนพบเห็นช่วยเหลือให้ปลอดภัย 67.0
2 โทรหาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน 21.4
3 ถ่ายรูป ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักฐานแจ้งคนอื่นทราบ เช่น ไลน์ เฟสบุค มือถือ เป็นต้น 8.9
4 โทรหาตำรวจ191 1.6
5 อื่นๆ เช่น สังเกต บันทึกสภาพแวดล้อม ดูหนทางหนีเอาตัวรอด เป็นต้น 1.1
รวมทั้งสิ้น 100.0
ตารางที่5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยได้ เป็นที่พึ่งได้ในการจัดระเบียบสังคมป้องกันเหตุร้ายให้นักเรียนนักศึกษาหญิงปลอดภัย
ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ
1 คสช. ช่วยได้ เป็นที่พึ่งได้ 92.4
2 ไม่เป็น 7.6
รวมทั้งสิ้น 100.0