กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่ข้าราชการสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “แนวนโยบายการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์”
ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (อาคารใหม่) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International –TI) พบว่า ปี ๒๕๕๖ ประเทศไทยได้อันดับที่ ๑๐๒ ตกลงไปจากปี ๒๕๕๕ ที่อยู่อันดับ ๘๘ โดยได้ค่าดัชนี CPI (Corruption Perceptions Index) ในปี ๒๕๕๖ ลดลงมาเหลือ ๓๕ คะแนน จาก ๑๐๐ คะแนน ซึ่งในปี ๒๕๕๕ ได้คะแนน ๓๗ คะแนน ทำให้ประเทศไทยสอบตกเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีสาเหตุมาจากกรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การใช้ระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือญาติ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ประกอบธุรกิจบางรายในการทำทุจริตในเรื่องของการใช้งบประมาณ รวมทั้งเรื่องประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่จะเอาผิดกับผู้กระทำผิดในการทุจริต แสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น และปัจจุบันการรับรู้ของภาคส่วนต่างๆ
ในสังคมเกี่ยวกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมีมากขึ้น ทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่สำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนของประเทศ
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
มีหน้าที่ดําเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับกระทรวงฯ และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช.ในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับกระทรวงฯ โดยมีแนวทางดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนี้ ๑) จัดทำระบบการกำกับติดตาม ตรวจสอบการทำงานภายในองค์กรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีระบบใช้งานในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ๒) ดำเนินการพัฒนาศักยภาพข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้มีสมรรถนะและมีภูมิคุ้มกันด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยได้ส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายในรูปแบบชมรมต่อต้านการทุจริต ๓) ส่งเสริมสนับสนุนเครือข่ายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อาทิ สภาเด็กและเยาวชน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ ๔) จัดทำแผนปฏิบัติการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๕๙ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของหน่วยงานในสังกัดระดับกรม ซึ่งประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์ ๕ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ปลูกและปลุกจิตสำนึกการต่อต้านการทุจริตของบุคลากรกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในการรักษาประโยชน์สาธารณะ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ บูรณาการการทำงานของหน่วยงานในการต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ พัฒนาระบบบริหารและเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และยุทธศาสตร์ที่ ๕ เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริตให้กับทุกภาคส่วน
“ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเป็นการผลักดันให้ค่าคะแนนดัชนีความโปร่งใสของประเทศดีขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่ รวมทั้ง ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการดำเนินงานอย่างจริงจังต่อไป” นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย