กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--สมิติเวช
สมิติเวช สุขุมวิท โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในเครือสมิติเวช ยกระดับความเป็นเลิศด้านการรักษาและบริการ พัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยโรคตับและทางเดินอาหาร จับมือโรงพยาบาล “ซาโน่” ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องจากญี่ปุ่นพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี ประเดิมจัดเวิร์คช็อปนำความรู้และความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านการรักษาโรคตับและทางเดินอาหารให้แพทย์ไทย หวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
โรงพยาบาลสมิติเวชได้ร่วมลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลซาโน่แห่งญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องร่วมกับการผ่าตัด (Advanced Endoscopy) โดยการส่องกล้องเข้าไปทางปากหรือทางทวารหนัก ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีการนี้ ไม่มีบาดแผล ฟื้นตัวเร็ว และสามารถตรวจวินิจฉัยไปจนถึงการผ่าตัดและรักษา ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีนับเป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งได้ พร้อมถ่ายโอนความชำนาญและเทคนิคในการวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ ซึ่งทำให้สามารถตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วแม่นยำยิ่งขึ้น รองรับผู้ป่วยในจำนวนมากขึ้นได้ เพื่อยกระดับการรักษาโรคตับและทางเดินอาหาร พร้อมบริการผู้ป่วย ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ได้อย่างครอบคลุมครบวงจรตามมาตราฐานสากลที่วงการแพทย์ทั่วโลกยอมรับ
นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สมิติเวชและซาโน่ต่างก็มีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ป่วย พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคน ด้วยจุดยืนที่ตรงกันทำให้เราตัดสินใจที่จะทำบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การสอนและพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา และการจัดสัมมนาเพื่อพัฒนาความรู้ใหม่ๆ เพราะเราชื่อว่าการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องคือปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน ซึ่งจะช่วยให้เราช่วยให้ประชาชนทั่วไปมีสุขภาพดี ตลอดจนมีการค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้แก่วงการแพทย์ต่อไป”
นายแพทย์ยาซูชิ ซาโน่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลซาโน่และผู้อำนวยการสถาบันการผ่าตัดส่องกล้อง กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้ร่วมงานกับสมิติเวช โดยเฉพาะด้านการพัฒนาความรู้ความชำนาญ และการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นแก่ผู้ป่วยและครอบครัว โรงพยาบาลซาโน่จะนำความรู้ความชำนาญด้านการผ่าตัดส่องกล้องในการวินิจฉัยและรักษาโรคมาช่วยให้สถาบันตับและทางเดินอาหารของสมิติเวช ให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการคัดกรองและการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหากับตับและระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย”
นอกจากความร่วมมือในทั้ง 3 ด้านหลักและการถ่ายทอดเทคนิค การผ่าตัดส่องกล้องร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งโรงพยาบาลซาโน่มีความชำนาญมาก หลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว โรงพยาบาลซาโน่จะเริ่มให้การสนับสนุนแก่สถาบันตับและทางเดินอาหารของสมิติเวช เพื่อให้บริการที่ดียิ่งขึ้นแก่ผู้ป่วยทั้งหมด รวมถึงชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกค้าชาวต่างชาติอันดับ 1 ของสมิติเวช โดยสมิติเวชได้ให้บริการแก่ชาวญี่ปุ่นประมาณปีละ 120,000 คนหรือเฉลี่ยวันละประมาณ 400 ราย ซึ่งทำให้สมิติเวชกลายเป็นโรงพยาบาลในต่างประเทศที่ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้บริการมากที่สุด
หลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ทั้งสองโรงพยาบาลได้ร่วมกันจัดเวิร์คช็อปเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการวินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วยโรคตับและทางเดินอาหาร
นายแพทย์ดุลย์ ดำรงศักดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า “โรคตับและทางเดินอาหารเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดและพบมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่กินดีอยู่ดีมากเกินไปทำให้เกิดภาวะโภชนาการไม่สมดุล ความเครียดจากสภาพแวดล้อมและความกดดันจากรอบด้านในชีวิตยุคใหม่ ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารและตับ การที่เราร่วมมือกับโรงพยาบาลซาโน่จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง จะทำให้เกิดการถ่ายโอนความรู้ในด้านการรักษา และการเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้สถาบันตับและทางเดินอาหารของสมิติเวชมีความชำนาญและความสามารถมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เราตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วแม่นยำมากขึ้น รองรับผู้ป่วยในจำนวนมากขึ้นได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสถาบันตับและทางเดินอาหารสมิติเวชเพื่อให้สามารถให้บริการได้ดียิ่งขึ้นด้วย”
สถาบันตับและทางเดินอาหารโรงพยาบาลสมิติเวช มีความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวกับตับและระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ โรคจากพิษสุรา ตัวแข็ง ภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ ตับอ่อนอักเสบ นิ่ว และอื่นๆ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สถาบันดังกล่าวตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 2 ของโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท โดยมีแพทย์เฉพาะทางประจำ 10 คน พยาบาล 11 คน แลผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 4 คน รวมทั้งมีห้องตรวจโรค 12 ห้อง ห้องส่องกล้อง 5 ห้อง และห้องพักฟื้น 8 ห้อง