กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 108.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 3.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 124.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- บริษัท National Oil Corp. (NOC) ของลิเบียเปิดเผยว่าแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ระดับ 340,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการ หลังกลุ่มผู้ประท้วงยอมคืนแหล่งผลิตน้ำมันดิบดังกล่าวที่ปิดมาร่วม 4 เดือน อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการซ่อมแซมอุปกรณ์การผลิตและท่อขนส่งน้ำมันดิบ ทั้งนี้ยอดผลิตน้ำมันดิบของประเทศในปัจจุบัน ล่าสุด ถึงวันที่ 8 ก.ค. 57 อยู่ที่ 327,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน Force Majeure สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบจากท่า Es Sider (340,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Ras Lanuf (220,000 บาร์เรลต่อวัน) แล้วหลังกลุ่มผู้ประท้วงยอมออกจากท่าส่งออกที่ปิดมานานร่วม 11 เดือนให้รัฐบาล
- Troika (IMF, ECB,EU) ประมาณการณ์เบื้องต้นว่าในปี พ.ศ. 2558 กรีซจะประสบปัญหาขาดดุลการคลังกว่า 1.2 แสนล้านยูโร (1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ก่อนที่จะสามารถได้รับเงินจากการระดมทุนด้วยการขายพันธบัตร โดยรัฐบาลกรีชยังไม่ขอรับความช่วยเหลือจาก Troika ซึ่งต้องการให้กรีชขอรับความช่วยเหลือเพื่อป้องกันความเสี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้กรีชมีแผนที่จะขายพันธบัตรระยะเวลา 3 ปี มูลค่ากว่า 3 พันล้านยูโร เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน
- คริสติน ลาการ์ด ประธานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกสำหรับปี พ.ศ. 2557 และ 2558 ลง ทั้งนี้ ลาการ์ดกล่าวว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2557 และร้อนแรงขึ้นในปี พ.ศ. 2558 แต่ด้วยอัตราเร่งที่ต่ำกว่าเคยคาดการณ์ไว้
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- IEA คาดการณ์อัตราเติบโตอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี พ.ศ. 2558 อยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์อัตราการเติบโตอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี พ.ศ. 2557 ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า และอุปทานน้ำมันจากกลุ่ม NoN-OPEC จะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า
- เกิดการสู้รบกันในลิเบียระหว่างกองกำลังสองกลุ่มที่ต้องการเข้าควบคุมท่าอากาศยานในกรุงทริโปลีในวันอาทิตย์ และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน ถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในกรุงทริโปลีในรอบ 6 เดือน ทางด้านสหประชาชาติ (UN) ประกาศในเว็บไซต์ของตนเองในวันจันทร์ว่า ยูเอ็นกำลังถอนเจ้าหน้าที่ออกจากลิเบียเป็นการชั่วคราว และท่าส่งออกน้ำมันดิบ Brega (120,000 บาร์เรลต่อวัน) ทางฝั่งตะวันออกของประเทศถูกกลุ่มผู้ประท้วงปิดดำเนินการตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ WTI NYMEX และ ICE Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์รุนแรงในลิเบียหลังเกิดการสู้รบกันระหว่างกลุ่มกองกำลังติดอาวุธสองกลุ่มที่ต้องการเข้าควบคุมท่าอากาศยานในกรุงทริโปลีระหว่างสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน โดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ Zintan ซึ่งเข้ายึดครองท่าอากาศยานดังกล่าวตั้งแต่สิ้นยุคสมัยการปกครองของ พันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี่ ในปี พ.ศ 2554 ถูกกลุ่มกองกำลังติดอาวุธทางภาคตะวันออกหรือที่รู้จักกันว่ากลุ่ม Misrata เข้าโจมตี โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในกรุงทริโปลีในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตามอุปทานน้ำมันโลกยังคงมีเพียงพอแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงในลิเบีย ล่าสุด Energy Aspects รายงานลิเบียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น มาอยู่ทีระดับ 430,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 350,000 บาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 240,000 บาร์เรลต่อวัน หลังแหล่งผลิตน้ำมัน El Sharara 340,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการ นอกจากนี้ในรายงานประจำเดือน ก.ค. พ.ศ. 2557 ของ OPEC ซึ่งมีการคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานน้ำมันสำหรับปีพ.ศ. 2558 เป็นครั้งแรก OPEC คาดว่าโลกจะมีความต้องการน้ำมันดิบจากกลุ่ม OPEC (Call-on OPEC Crude) ในปี 58 ที่ระดับ 29.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 310,000 บาร์เรลต่อวัน จากปี พ.ศ. 2557 หลังอุปทานน้ำมันจากกลุ่ม Non –OPEC เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยในปี พ.ศ. 2558 จะเพิ่มขึ้น 1.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อหน้า โดยคิดเป็นอุปทานน้ำมัน Non –OPEC จากประเทศสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 880,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า ทางเทคนิค Brent มีแนวรับอยู่ที่ 106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, WTI มีแนวรับอยู่ที่ 99.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและมีแนวต้านอยู่ที่ 103.84เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตามระดับปริมาณสำรอง Light Distillates ของสิงคโปร์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. 57 ลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 9.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122.7-124.7เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงเนื่องจากอุปสงค์ตกต่ำทั่วโลก กอปรกับปริมาณอุปทานในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น โดย IES รายงานเกาหลีใต้ส่งออก Diesel มายังสิงคโปร์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. 57 เพิ่มขึ้น 45 % จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ Reuters รายงานระดับปริมาณสำรอง Middle Distillates ในสิงคโปร์ยังอยู่ในระดับสูง โดยสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 44 % จากปีก่อนหน้า