กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการอ่านข้อมูลเอกสารผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตและการอ่านข้อมูลเอกสารผ่านหน้ากระดาษปกติของครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,089 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.06 ขณะที่ร้อยละ 48.94 เป็นเพศชาย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.55 และร้อยละ 22.31 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 21 ถึง 25 ปี และ 26 ถึง 30 ปีตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 34.62 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.88 เป็นนักเรียนนักศึกษา ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.12 เป็นครูอาจารย์
เมื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมของช่องทางการอ่านเอกสารข้อมูลในปัจจุบันระหว่างการอ่านเอกสารข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตกับการอ่านข้อมูลเอกสารผ่านหน้ากระดาษปกติ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 40.96 ระบุว่าขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของข้อมูลที่อ่าน เวลา/สถานที่อ่าน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.56 ระบุว่ามีความเหมาะสมเท่า ๆ กัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.71 ระบุว่าการอ่านเอกสารข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมีความเหมาะสมมากกว่า และกลุ่มตัวอย่างที่เหลือร้อยละ 13.77 ระบุว่าการอ่านผ่านหน้ากระดาษปกติมีความเหมาะสมมากกว่า
สำหรับช่องทางที่นิยมใช้อ่านเอกสารข้อมูลในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 54.82 ระบุว่าในปัจจุบันนี้ตนเองนิยมอ่านเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ผ่านหน้ากระดาษปกติมากกว่าการอ่านผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 45.18 ที่นิยมอ่านเอกสารข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมากกว่า
โดยสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างนิยมอ่านเอกสารข้อมูลผ่านหน้ากระดาษปกติมากกว่า คือ ไม่ชอบอ่านข้อมูลต่าง ๆ ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ คิดเป็นร้อยละ 84.25 จดบันทึกเพิ่มเติมได้ง่าย คิดเป็นร้อยละ 80.57 และกลัวเสียสุขภาพดวงตาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ 76.88 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.37 ระบุว่าสามารถเปิดอ่านได้ตลอดเวลา ส่วนสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างนิยมอ่านเอกสารข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมากกว่าได้แก่ พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก คิดเป็นร้อยละ 82.72 ประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บเอกสารต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 80.89 และเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 77.85
ในด้านความคิดเห็นต่อการบรรจุเนื้อหาบทเรียนผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.12 มีความคิดเห็นว่าควรมีการบรรจุเนื้อหาบทเรียนให้กับนักเรียนนักศึกษาผ่านช่องทางทั้งคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตและหน้ากระดาษเท่า ๆ กัน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.66 มีความคิดเห็นว่าการบรรจุเนื้อหาบทเรียนผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตไม่ได้มีส่วนทำให้นักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจกับการเรียนวิชาต่าง ๆ มากขึ้นกว่าการบรรจุเนื้อหาผ่านหน้ากระดาษ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.81 ระบุว่ามีส่วน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 54.27 มีความคิดเห็นว่าการบรรจุเนื้อหาบทเรียนผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตไม่ได้มีส่วนทำให้นักเรียนนักศึกษาได้อ่านเนื้อหาบทเรียนมากขึ้นกว่าการอ่านเนื้อหาผ่านหน้ากระดาษปกติ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.55 ระบุว่ามีส่วน และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.94 มีความคิดเห็นว่าการบรรจุเนื้อหาบทเรียนผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตไม่ได้มีส่วนทำให้นักเรียนนักศึกษามีสมาธิกับการอ่านเนื้อหาบทเรียนมากขึ้นกว่าการอ่านเนื้อหาบทเรียนผ่านหน้ากระดาษปกติ มีกลุ่มตัวอย่างเพียงประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 34.71 ที่ระบุว่ามีส่วน