กรุงเทพ--26 ส.ค.--กรมศุลกากร
ไอเอ็มเอฟสรุปผลโครงการช่วยเหลือทางเทคนิคปฏิรูประบบศุลกากรไทย เอ่ยปากชมผลงานพัฒนากรมฯ ของอธิบดีสมใจนึก คาดส่งรายงานผลตรงถึงสำนักงานใหญ่ไอเอ็มเอฟที่วอชิงตน ดี.ซี.ไม่มีผิดหวังแน่ พร้อมชี้กรอบแนวทางพัฒนาที่จะต้องเดินหน้าผลักดันต่อไปเพื่อสนับสนุนโครงการให้บรรลุผลสมบูรณ์
นายสมใจนึก เองตระกูล อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยผลสรุปจากการหารือและประสานงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้จัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี โดย Mr.James T. Walsh, Tax Administration Division เป็นหัวหน้าคณะ มาเตรียมการเพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่กรมศุลกากร ในการปฏิรูประบบกรมศุลกากรใหัทันสมัย ตามความเห็นชอบของ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกะทรวงการคลัง ซึ่งได้เดินทางมาศึกษาและประเมินผลในระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 10 กรกฎาคม 2541 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจะทำการจัดส่ง Ms.Gloria Reid, Customs Administration Expert มาติดตามผลและให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคแก่กรมศุลกากรต่อไปอีกด้วยว่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจต่อประเทศไทยอย่างมาก ทั้งนี้คณะผู้เชี่ยวชาญ IMF ได้กล่าวชมเชยกรมศุลกากรไทย ที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการปฏิรูประบบงานศุลกากรให้ทันสมัย ตามข้อเสนอแนะที่ได้ให้ไว้ครั้งแรก ซึ่งได้เดินทางมาศึกษาไปแล้วครั้งหนึ่งในระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2541 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังได้เห็นความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง และการดำเนินการอย่างรวดเร็ว และชัดเจน โดยเฉพาะกรณีการดำเนินการตามขอ้เสนอของ IMF คาดว่าจะเป็นงานที่มีความลำบากอย่างยิ่ง แต่กรมศุลกากรก็สามารถดำเนินการได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว "ทางคณะผู้เชี่ยวชาญยังได้กล่าวว่ารู้สึกสบายใจที่จะได้รายงานผลการดำเนินการปฏิรูประบบงานศุลกากรที่ทันสมัยของกรมฯ ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อทราบต่อไป"
สำหรับสรุปการติดตามผลในครั้งนี้ ทางคณะผู้เชี่ยวชาญ IMF ได้ชี้แจงให้ทราบว่าได้จัดทำบันทึกช่วยจำในการมาติดตามผลครั้งนี้ ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากการรายงานครั้งก่อน เพื่อสนับสนุนแผนการปฏิรูประบบงานศุลกากรให้ทันสมัย การประเมินผลความก้าวหน้าจากข้อเสนอแนะที่ให้ไว้ รวมทั้งบทสรุปที่ควรต้องดำเนินการขึ้นต่อไป ตลอดจนกรอบอำนาจหน้าที่ของที่ปรึกษาด้านศุลกากรของ IMF ตามโครงการความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่กรมศุลกากรต่อไป
อธิบดีกรมศุลกากรยังได้กล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญ IMF ยังได้ให้ความเห็นถึงแนวทางการดำเนินงานขั้นต่อไป ดังนี้ คือ 1.กลยุทธหลักสำหรับความทันสมัยที่จำเป็นจะต้ดงดำเนินการใน 3 เรื่องหลักเรียบตามลำดับไป ได้แก่ การมีกฎหมายที่ง่ายและเหมาะสม การมีพิธีการที่ง่ายและทันสมัยอยู่เสมอ และการควบคุมรายได้ไม่ให้รั่วไหลโดยใช้วิธีประเมินความเสี่ยงและวิธีการเลือกควบคู่กลุ่มเป้าหมายและธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และ 2.การดำเนินการที่จะเอื้ออำนวยการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ การปรับปรุงการจัดองค์กรและการจัดการ การสรรหาบุคลากรและการฝึกอบรม ตลอดจนคำนึงถึงการให้บริการที่ดีขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันยังได้มีการวางกรอบอำนาจหน้าที่ของที่ปรึกษาด้านศุลกากร ซึ่งจะจัดส่ง Ms.Gloria Reid มาให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชากรและเทคนิค ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะต่ออธิบดีในเรื่องทิศทางของโครงการ เพื่อให้บรรลุผลตามแผนการปฏิรูประบบศุลกากรให้ทันสมัยและนำมาใช้ได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งกรมฯ ได้มอบหมายให้ นายอุทิศ ธรรมวาทิน รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคระกรรมการปฏิรูประบบงานศุลกากร ทำหน้าที่ประสานงานกับตัวแทนจาก IMF เพื่อปรับปรุงแผนโครงการทั้งหมด โดยมีระยะเวลาและการรายงานผลซึ่งกำหนดระยะเวลาที่ตัวแทนจาก IMF จะเดินทางมายังไทยอีก 3 ครั้ง คือ ในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ และเดือนมกราคมกับพฤษภาคมปีหน้า ซึ่งจะใช้เวลาครั้งละประมาณ 8 สัปดาห์--จบ--