กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์
เมื่อสื่อดิจิตอลเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่มากขึ้น จะเห็นได้จากกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งถึงเวลาเข้านอน ผู้บริโภคพึ่งพาสื่อดังกล่าวจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทั้งเรื่องการสื่อสารและตอบสนองพฤติกรรมการบริโภค ทำให้สินค้าและบริการต่างๆ หันมาใช้สื่อดิจิตอลในการสร้างแบรนด์และสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค เพราะเป็นสื่อที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน และมีศักยภาพในการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ ช่วยให้เกิดการตัดสินใจซื้อ สิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคต คือ กลยุทธ์ Digital Marketing มีแนวโน้มการแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีจะหันมาใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ธุรกิจที่ต้องการใช้ประโยชน์จากสื่อดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบการให้บริการและเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นสิ่งสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนเมือง หรือแม้กระทั่งคนในต่างจังหวัดไปแล้ว การใช้กลยุทธ์ Digital Marketing จึงต้องเลือกใช้สื่อที่เหมาะกับการสร้างแบรนด์รวมทั้งการขายสินค้าและบริการต่างๆ ปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ โดยเฉพาะไลน์พบว่าคนไทยใช้กว่า 30 ล้านคน หาก แบรนด์ใดสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นโดนใจกลุ่มเป้าหมาย จะมีโอกาสเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของลูกค้า นอกจากนี้ Social Media ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีส่วนช่วยสนับสนุนเกิดการสร้างมูลค่าให้สินค้าและบริการ
โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลต่างๆ สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ความสะดวก รวดเร็วของสื่อดิจิตอลทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้าได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างฐานลูกค้าใหม่ แม้ว่ากลุ่มคนที่ติดตามกิจกรรมของแบรนด์ผ่านสื่อดิจิตอลยังไม่ซื้อหรือเป็นลูกค้า แต่ในอนาคตคนกลุ่มนี้ คือเป้าหมายสำคัญการสร้างยอดขาย นักการตลาดจะต้องสร้างความบันเทิงและกิจกรรมที่น่าติดตามอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแจกของรางวัล กิจกรรมชิงโชค รวมทั้งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญควรมีโปรโมชั่นพิเศษเป็นตัวดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาพูดคุยกับแบรนด์ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อมีการสื่อสารในลักษณะต่างๆ เกิดขึ้นระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค นักการตลาดสามารถเก็บข้อมูล ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น รู้ว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือต้องการซื้อสินค้าและบริการแบบไหนฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแบรนด์ต่างๆ ได้ใช้กลยุทธ์การตลาดในรูปแบบสติ๊กเกอร์ดึงดูดลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ และผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นทำสติกเกอร์เพื่อบุกตลาดจะต้องเน้นเรื่องการดีไซน์ให้สวยงาม สะดุดตา มีความหมายโดนใจนำมาใช้แสดงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ การเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาดาวน์โหลดได้ฟรีทำให้เกิดการติดตาม เกิดการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ผู้ประกอบการที่ใช้กลยุทธ์ Digital Marketing ต้องทราบว่าสื่อ Social Media เป็นดาบ 2 คม เมื่อใช้ประโยชน์จากสื่อในเชิงบวกได้ ในขณะเดียวกันอาจมีผลสะท้อนกลับในเชิงลบได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นสื่อที่ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงได้อย่างเสรี หากมีการร้องเรียนจะทำให้กลุ่มคนจำนวนมากคิดว่าแบรนด์มีจุดอ่อน
โดยเฉพาะ Facebook ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเป็นช่องทางที่ลูกค้าใช้ร้องเรียนสูงถึง 90% ดังนั้น ทุกขั้นตอนการผลิตจะต้องเน้นเรื่องคุณภาพ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการร้องเรียน หากเกิดปัญหากับลูกค้า ผู้ประกอบการจะต้องแก้ไขและตอบคำถาม ให้ลูกค้าเข้าใจภายในเวลารวดเร็ว เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ และผู้บริโภคคนอื่น ๆ เห็นถึงความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้า นับเป็นส่วนหนึ่งของการบริการหลังการขาย ต้องไม่ลืมว่าหากทำให้ลูกค้าคนเดียวไม่พอใจจะทำให้ลูกค้าจำนวนมากรับรู้ในเรื่อง นั้นๆด้วย
นอกจากนี้การใช้กลยุทธ์ Digital Marketing เป็นการเพิ่มความสะดวก รวดเร็วให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะใช้สื่อทำกิจกรรมใด ต้องสอดคล้องกับช่องทางเดิม ๆ ที่ลูกค้าเคยทำ แล้วสื่อสารให้ทราบว่าช่องทางใหม่นั้นสะดวกสบายกว่าเดิม เช่น ก่อนหน้านี้ประชาชนต้องเดินทางไปฝากและถอนเงินที่ธนาคาร การพัฒนานวัตกรรมความสะดวกสบายต่าง ๆ ของธนาคารจึงต้องเน้นเรื่องความสะดวกสบายในการฝากถอนและโอนเงิน โดยไม่ต้องไปถึงธนาคาร ดังนั้น “แอพพลิเคชั่น” มีความจำเป็นกับการตลาดยุคดิจิตอล ต้องตอบสนองพฤติกรรมการทำธุรกรรมของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขายสินค้าและบริการ หรือแม้แต่ธุรกิจกรรมการเงิน ควรสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ถึงความปลอดภัย มิเช่นนั้นจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือและไม่ไว้วางใจที่จะใช้บริการ ไม่เฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น แต่ธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องการขายสินค้าหรือการสร้างแบรนด์ผ่าน Social Media รวมทั้งการเพิ่มความสะดวกสบายบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน จะต้องให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเข้าถึงความง่าย สะดวกสบาย ทันสมัย และปลอดภัย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการและนักการตลาดควรมีความพร้อม เรื่องการพัฒนาระบบและเทคโนโลยี บุคลากรที่มีศักยภาพในการทำงานให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า ยุคดิจิตอลทุกอย่างมีความรวดเร็ว ลูกค้าจาก Social Media มีหลากหลายกลุ่ม จึงมีโอกาสเกิดปัญหาได้ง่ายกว่าการทำงานกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แบรนด์ใดสามารถครองใจลูกค้าได้อย่างยาวนาน ผ่านกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง คนเหล่านี้จะเป็นสาวกของแบรนด์ในระยะยาว แต่สิ่งหนึ่งที่นักการตลาดต้องเข้าใจตรงกัน ลูกค้ามักจะเบื่อในสิ่งที่จำเจ ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น และมีโอกาสรับรู้สิ่งใหม่ ๆ จากคู่แข่ง การเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าจะตอบโจทย์การ ทำงานสื่อ Social Media ทำให้นักการตลาดเรียนรู้ผู้บริโภคได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเรียนรู้ว่าลูกค้าชอบอะไร ซึ่งมีความสำคัญกับกลยุทธ์ Digital Marketing เชื่อว่าในเร็วๆ นี้แบรนด์ส่วนใหญ่ทั้งของคนไทยและเพื่อนบ้าน จะหันมาใช้กลยุทธ์ Digital Marketing อย่างแพร่หลายมากขึ้น ผู้ประกอบการและนักการตลาดจะต้องใช้กลยุทธ์ในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ศึกษาการใช้สื่อโฆษณาดิจิตอล พิจารณาถึงผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง การกดไลค์ของลูกค้าอาจไม่ได้สร้างยอดขาย
ดังนั้นเมื่อมีการกดไลค์จะเปลี่ยนจากสถิติดังกล่าวมาเป็นยอดขายได้อย่างไร ต้องมีการประเมินประสิทธิภาพของสื่อแต่ละประเภท เช่น หากเฟสบุ๊คและไลน์ไม่สร้างยอดขาย แต่การส่ง SMS มียอดสั่งซื้อเข้ามามากกว่า ผู้ประกอบการต้องประเมินผล
เลือกสื่อที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า สื่อ Social Media มีอิทธิพลแตกต่างกัน บางสื่อมีบทบาททำให้ลูกค้ารู้จัก ทำให้ทราบว่าลูกค้าต้องการอะไร บางสื่อสร้างกระแสให้กับตลาด บางสื่อสร้างยอดขาย ผู้ประกอบการควรทำการตลาดให้ชัดเจนว่าต้องการอะไรจากสื่อดังกล่าว