กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--โฟร์ พี แอดส์
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย รวมถึงองค์กรภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวระดับพื้นที่ เปิดศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม เตรียมความพร้อมสำหรับแก้ไขปัญหาโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้นร่วมกันอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ
ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ คุณเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พญ.ชุลีพร จิระพงษา ผู้อำนวยการฝ่ายไทย ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข รศ.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ร่วมเปิดศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว (Coordinating Unit for One Health) และเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การประสานความร่วมมือของเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว (Thai One Health Network) โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในการทำงานร่วมกันต่อไป
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคในปัจจุบันว่า ขณะนี้หลายประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคต่างๆ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยการบูรณาการร่วมมือกันทำงานด้านสาธารณสุขปศุสัตว์และสัตว์ป่าของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีองค์กรภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย สำหรับการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรค ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานนั้น ได้มีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย และได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นศูนย์ประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนทรัพยากร และการอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรร่วมกัน โดยศูนย์นี้ไม่ขึ้นกับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หากแต่เป็นของเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวร่วมกัน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้สนับสนุนสถานที่จัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว ณ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค และในอนาคต หากเครือข่ายต่างๆมีความประสงค์จะสนับสนุนสถานที่เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานก็สามารถหมุนเวียนเปลี่ยนกันได้
"ความร่วมมือเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวหรือ One Health คือ ความมุ่งมั่นร่วมมือระหว่างหลายสาขาวิชาและหน่วยงาน ที่ทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และถึงระดับโลก ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการอบรมพี่เลี้ยงทีมระบาดวิทยา One Health ระดับอำเภอและจังหวัดไปแล้ว โดยการคัดเลือกผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนและสัตว์ ให้สามารถทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานในพื้นที่ได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย สามารถตอบโต้กับสถานการณ์การระบาดและสามารถสอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายมุ่งไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของคน สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า พืช และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ร่วมกัน ซึ่งโรคติดต่อที่สำคัญในประเด็นเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวหรือ One Health ได้แก่ โรคติดต่อสัตว์สู่คน เพราะมนุษย์มีการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว หรือพวกสัตว์เศรษฐกิจ เช่น วัว ควาย ม้า สุกร เป็ด ไก่ รวมทั้งสัตว์ป่าต่างๆ เช่น ลิง ค้างคาว นก เป็นต้น ทำให้มีโอกาสติดโรคระหว่างกันและกันตลอดเวลา บางชนิดจะแพร่กระจายในหมู่สัตว์ด้วยกัน แต่บางชนิดก็แพร่กระจายมาสู่คนได้ ไม่ว่าจะเป็นทางผิวหนัง บาดแผล การกิน และการหายใจ โรคติดต่อสัตว์สู่คนที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทยที่ชัดเจน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หวัดนก โรคไข้ฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโลสิส เป็นต้น การป้องกันโรคเหล่านี้คือ 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ หรือ สัตว์ป่วย หรือ สิ่งคัดหลั่งสัตว์ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ หน้ากากป้องกันโรค 2. ไม่นำสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ มาชำแหล่ะ เพื่อบริโภคหรือเพื่อจำหน่าย 3. ล้างมือ หรือ อาบน้ำชำระร่างกายหลังการการสัมผัสสัตว์ หรือ สัตว์ป่วย หรือ สิ่งคัดหลั่งสัตว์ หรือ ลุยน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน4. รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด 5. กำจัดหรือทำลายซากสัตว์ป่วย เช่น
การฝังดินลึกๆ หรือเผาทำลาย 6. ควบคุมกำจัดพาหะของโรค 7. ฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และฉีดวัคซีนให้กับบุคคลที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูง และ 8. เมื่อมีการระบาดของโรคต้องรีบรายงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นต้น ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค 02 590 3159 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว