กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เดินหน้าสานภารกิจเสริมความรู้และการฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ภายใต้โครงการ "เสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" ครอบคลุมชาวบ้านในพื้นที่จำนวน
7 หมู่บ้านซึ่งล้วนตั้งอยู่ในเขตหุบเขาหรือบนสันเขา ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเสี่ยงต่อภัยพิบัติ เช่น น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน โดยการฝึกอบรมทั้ง 2 จังหวัดนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่อย่างพร้อมเพรียง
จากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทยในแต่ละปี กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยจึงได้ผนึกกำลังร่วมกับ ปภ. สานต่อภารกิจส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการบรรเทาภัยได้ก่อนที่หน่วยงานภายนอกจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยใช้ระยะเวลาการอบรม 3 วัน
ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้ฝึกการวางแผนรับมือภัยพิบัติตามหลักการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามหลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management: CBDRM) ดังนี้
1. ศึกษาข้อมูลภัยของชุมชน เพื่อคาดเดาสถานการณ์ว่าจะเกิดภัยและมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด อาทิ ประเภทของภัยและช่วงเวลาที่เกิดภัย จัดทำแผนที่ชุมชนที่มีรายละเอียดพื้นที่เสี่ยงภัย กำหนดเส้นทางอพยพและจุดรวมพล ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้ระดับหนึ่ง
2. วิเคราะห์ข้อมูลภัยของชุมชน เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการเลือกป้องกันและบรรเทาภัย และวิเคราะห์สาเหตุของภัยพิบัติพร้อมหาวิธีแก้ไขร่วมกัน
3. ตกลงและยอมรับการใช้สัญญาณแจ้งเตือนภัยเพื่ออพยพร่วมกัน เพื่อให้ชาวบ้านรับรู้กันได้อย่างทั่วถึงในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเพื่อจะได้มีเวลาเพียงพอที่จะอพยพหนีภัยไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย
4. จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของชุมชน เพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย อาทิ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายเฝ้าระวังและเตือนภัย ฝ่ายอพยพ ฝ่ายสถานที่ ฝ่ายเสบียง ฝ่ายปฐมพยาบาล และฝ่ายประสานงาน
5. จัดทำและฝึกซ้อมแผน พร้อมมอบหมายภารกิจ เพื่อการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน
6. ประเมินผลและแนวทางการปรับปรุงแก้ไข