กรุงเทพ--28 ส.ค.--ธ.ก.ส.
ตลาดกลางสินค้าเกษตร ธ.ก.ส.ขอนแก่น โชว์ผลงานยกระดับราคา และการซื้อขายข้าวเปลือก ณ สิ้นเดือนมีนาคมกว่า 80,000 ตัน มูลค่า 448 ล้านบาท เตรียมปรับรูปแบบตลาดและจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการซื้อขายข้าวเปลือก เพื่อจูงใจและเพิ่มกำลังซื้อแก่พ่อค้า
นายมนัส ใจมั่น ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตลาดกลางสินค้าเกษตร ธ.ก.ส.ขอนแก่น จัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางหรือจุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายข้าวเปลือก และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ การเพิ่มการแข่งขันด้านราคา การเสริมสร้างความรู้ทางการตลาด และการพัฒนาคุณภาพ โดยมีเขตดำเนินงานในท้องถิ่นที่ 6 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ อุดรธานี กาฬสินธุ์ และหนองบัวลำภู
สำหรับในปี 2539/40 คือ 1 เมษายน 2539 ถึง 31 มีนาคม 2540 ตลาดกลางสินค้าเกษตร ธ.ก.ส.ขอนแก่น ตั้งเป้าหมายการซื้อขายข้าวเปลือกในตลาด 58,500 ตัน แต่มีปริมาณซื้อขายจริงทั้งสิ้น 83,494 ตัน หรือร้อยละ 142 ของเป้าหมาย คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 448 ล้านบาทและสิ่งที่ชี้ถึงความสำเร็จอีกด้านหนึ่ง คือ ราคาที่ทำการซื้อขายข้าวเปลือกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ณ สิ้นปี 2538/39 ราคาข้าวหอมมะลิ 5,100 บาท/ตัน ข้าวเหนียว 4,650 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 5% 5,050 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 25% 4,300 บาท/ตัน ขณะที่สิ้นปี 2539/40 ราคาข้าวหอมมะลิเพิ่มเป็น 8,300 บาท/ตัน ข้าวเหนียว 6,400 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 5% 5,900 บาท/ตัน และข้าวเจ้า 25% 5,000 บาท/ตัน
นายมนัสกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสินค้าเกษตรอื่น ๆ ก็เริ่มเข้ามาทำการซื้อขายในตลาดกลางแห่งนี้ด้วย เช่น ถั่วเหลือง ในช่วงสิ้นปี 2539/40 มีปริมาณซื้อขายทั้งสิ้น 154.167 ตัน ราคาเฉลี่ย 9.87 บาท/กิโลกรัม รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.52 ล้านบาท มะม่วงแก้ว มีปริมาณซื้อขาย 26.4 ตัน ราคาเฉลี่ย 2.22 บาท/กิโลกรัม มูลค่าร่วม 60,000 บาท นอกจากนั้นตลาดกลางยังได้ดำเนินงานในเรื่อง การขายน้ำมันเชื้อเพลิง การบริหารและขายปุ๋ยให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ทำให้ผลการดำเนินงานรวมของตลาดกลาง ณ สิ้นปี มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 3.6 ล้านบาท
นายมนัสกล่าวอีกว่า ในปี 2540/41 ตลาดกลางตั้งเป้าหมายปริมาณข้าวเปลือกที่จะมาทำการซื้อขายในตลาดจำนวน 65,000 ตัน ถั่วเหลือง 360 ตัน มะม่วงแก้ว 165 ตัน การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 96,000 ลิตร และปุ๋ยกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์อีก 30,000 ตัน ส่วนด้านบริการจะจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการซื้อขายข้าวเปลือก เพื่อให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือกยืมเงินไปซื้อข้าวเปลือกในตลาดกลางเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ โดยนำรายได้จากค่าตอบแทนเงินยืมไปเป็นรายได้ของตลาดกลางและเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการซื้อขายผลผลิตภายในตลาด การติดตั้งเครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือกและโรงคลุมเพื่อเพิ่มคุณภาพของข้าวเปลือก การปรับปรุงสำนักงาน การติดตั้งคอมพิวเตอร์และสร้างระบบฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มความถูกต้อง รวดเร็ว ความสะดวกสะบาย และความพึงพอใจในการบริการ--จบ--