กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--บล.กสิกรไทย
หลักทรัพย์กสิกรไทยเล็งเพิ่มส่วนแบ่งตลาด DW มองการเมืองมีทิศทางชัดเจน ดึงนักลงทุนสนใจลงทุน DW เพิ่มขึ้น เตรียมออก DW11 อีก 12 รุ่น ทั้งประเภท Put และ Call อ้างอิง 7 หลักทรัพย์ใหม่
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมาภาพรวมของตลาดการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants - DW) มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งระบบของเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 891 ล้านบาท คิดเป็น 2.04% ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งระบบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 13.35% ในส่วนของ DW11 ที่ออกโดยหลักทรัพย์กสิกรไทยยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดอยู่ที่ 1.30% หลังจากที่เปิดตัวสู่ตลาด DW เพียง 6 เดือน บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะออก DW11 ให้ครอบคลุมหลักทรัพย์อ้างอิงทุกอุตสาหกรรมพร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนอื่นๆ เข้าสู่ตลาดเพิ่มเติม เพื่อให้นักลงทุนสามารถเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนได้เหมาะสมกับภาวะตลาดและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
"เนื่องจากทิศทางการเมืองในตอนนี้มีความชัดเจน ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น เงินทุนไหลกลับเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาด DW กลับมาคึกคัก นักลงทุนกล้าลงทุนใน DW มากขึ้น เพราะมองว่า DW เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างโอกาสทำกำไรได้ทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าจะเป็นช่วงตลาดขึ้นหรือลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก DW เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวันหมดอายุ มีการเสื่อมค่า นักลงทุนควรเลือกราคาที่เหมาะสมในการเข้าซื้อขาย และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ผ่านเว็บไซต์เพื่อการลงทุนใน DW โดยเฉพาะที่หลักทรัพย์กสิกรไทยพัฒนาขึ้นคือ kswarrants.kasikornsecurities.com" นายธิติ กล่าว
ทั้งนี้ หลักทรัพย์กสิกรไทยจะออก DW11 อีก 12 รุ่น ได้แก่ AOT11P1501A, DTAC11C1412A, DTAC11P1412A, ITD11C1412A, SCB11P1501A, TRUE11C1501A AP11C1501A, BLAN11C1412A, BMCL11C1412A, MINT11C1501A, QH11C1501A และ SPAL11C1501A โดยมีหลักทรัพย์อ้างอิงใหม่ 7 ตัว ได้แก่ AP, BLAND, BMCL, DTAC, MINT, QH และ SPALI ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์มองว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นตามแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกาและยุโรป ซึ่งจะส่งผลดีในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย รวมถึงการที่ความเสี่ยงโดยรวมของโลกลดต่ำลง ซึ่งจะเห็นได้จากอัตราประกันความเสี่ยงผิดนัดชำระ (CDS) ที่ลดลง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) กลุ่มยูโรโซน ที่กลับเข้าสู่ระดับปกติ ในขณะที่ดอกเบี้ยโดยรวมของโลกก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ภาวะดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยง (risk premium) ของการลงทุนในหุ้นลดต่ำลงทำให้หุ้นจะมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกันการที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาเร็วจนหุ้นหลายตัวแม้จะยังต่ำกว่าราคาเหมาะสมปีหน้า แต่ก็เริ่มเกินระดับเหมาะสมปีนี้ ส่งผลให้หุ้นหลายตัวอาจเริ่มโดนแรงขายทำกำไร ทั้งนี้หากมองคร่าวๆ SET Index ในระดับ 1,550-1,600 จุด ถือเป็นจุดที่มีโอกาสผันผวนจากแรงทำกำไรเช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนควรมองหาผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนอื่นมาช่วยกระจายความเสี่ยงและทำกำไรในช่วงที่ตลาดผันผวน เช่น การลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants - DW) เป็นต้น