กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าส่งเสริม SMEs ระดับล่างใช้ระบบ IT ในธุรกิจอุตสาหกรรมผ่าน Cloud Computing ให้มากยิ่งขึ้น ดันไอทีแนวใหม่ให้ SMEs ใช้ฟรีต่อเนื่อง พร้อมทั้ง กระตุ้น SMEs ไทยให้หันมาตื่นตัวด้วยการจัดงาน “ECIT: SMEs Solutions Day 2014 มิติใหม่แห่งการใช้ IT เพื่อขับเคลื่อน SMEs ไทยสู่ระดับสากล” ในวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2557 ณ ห้องคอนเวนชั่น A-B โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
หลังจากที่โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Enhancing SMEs Competitiveness Through IT : ECIT) ประสบความสำเร็จ ลดต้นทุนการผลิตมากกว่า 2 แสนบาทต่อรายต่อปี โดยในปีนี้กรมฯ จึงเร่งปรับโฉมการส่งเสริมให้ SMEs ใช้งานฟรีแวร์ในธุรกิจเพื่อลดต้นทุน ในกิจการ ครอบคลุมเสริมด้วยระบบโมบายแอพพลิเคชั่น เน้นซอฟท์แวร์บริหารงานครบวงจร (ERP: Enterprise Resource Planning) และซอฟท์แวร์เฉพาะด้าน เช่น สต็อก บัญชี บริหารลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น ส่งเสริมธุรกรรมออนไลน์ ด้วย e-supply chain ในการติดต่อซื้อขายสินค้าในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน (Supply Chain) และสร้าง Green IT ลดต้นทุนเก็บสต็อกสินค้าและเพิ่มมูลค่าสต็อกสินค้า ด้วย Dead Stock Management ผนวกเสริมแรงด้วยโซเชียลมีเดีย เพิ่มช่องทางต่อยอดการตลาด ตั้งเป้า 900 กิจการ ลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไอที ไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในการผลิตที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ระบบการผลิต การบริหารสินค้าคงคลัง การบริหารการเงินและบัญชี การบริหารบุคคล การบริหารฐานข้อมูลลูกค้า หรือเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ริเริ่มโครงการ ECIT เป็นโครงการต่อเนื่อง 7 ปี (ปี 2552 – 2558) เพื่อกระตุ้นให้ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการงานต่างๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนของกิจการ”
กิจกรรมหลักที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 คือ การใช้ระบบซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Cloud Computing) กระตุ้นให้ SMEs ยอมรับและเชื่อมั่นในซอฟต์แวร์ไทย ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในองค์กร มีผู้ให้บริการทำหน้าที่เป็น Data Center ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องลงทุนในเรื่องระบบไอที โดยซอฟต์แวร์ที่ให้บริการ ได้แก่ ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการ ERP ประกอบด้วยโมดูลการผลิต การเงิน การตลาด และงานบริหารบุคคล และซอฟต์แวร์เชิงเดี่ยว (เฉพาะด้าน) เช่น ซอฟต์แวร์ด้านบัญชี และด้านบริหารลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น SMEs ที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนด้านลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การจัดซื้อเครื่องแม่ข่าย การจ้างพนักงานดูแลระบบและอื่น ๆ โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 400,000 บาทต่อบริษัท นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนและขั้นตอนต่าง ๆ โดยเฉลี่ยขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อบริษัท
ผลการดำเนินงานโครงการ ECIT ในปีงบประมาณ 2556 ที่ผ่านมา มี SMEs เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,600 กิจการ และ 1,500 คน โดยใช้งบประมาณจำนวน 35,000,000 บาทในการดำเนินกิจกรรม ปรากฏว่า สามารถช่วยให้ SMEs มีผลิตภาพและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น สามารถประเมินผลเป็นจำนวนเงินที่ SMEs ได้จากการเพิ่มผลิตภาพ, ประหยัดต้นทุนการนำระบบไอทีมาใช้, รายได้ที่เพิ่มขึ้น, ลงทุนที่เพิ่มขึ้น และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 148 ล้านบาท หากคิด Benefit / Cost Ratio ขั้นต่ำที่ได้จากโครงการนี้เท่ากับ 4.23 หมายถึง รัฐฯ ลงทุนในโครงการนี้ 1 บาท ได้ผลตอบแทนความคุ้มค่า 4.23 บาท ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีกำไร
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า “หลังจากที่ได้ผลักดัน Cloud Computing จนประสบความสำเร็จ ในปี 2557 นี้ จะมีการเพิ่มความเข้มข้นมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา โดยวางเป้าหมายให้ครอบคลุมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใน SMEs ระดับล่างมากขึ้น ซึ่งในปีนี้โครงการฯ ได้รับงบประมาณ ราว 30 ล้านบาท ตั้งเป้าส่งเสริม SMEs ใช้ไอทีในกิจการ จำนวน 900 กิจการ และคาดการณ์ว่าจะสามารถช่วย SMEs ที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มยอดขาย ลดต้นทุนต่างๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านไอทีเพื่อใช้ในกิจการ ไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท”
ECIT เพิ่มการส่งเสริมให้ SMEs ใช้งาน Free Ware ในธุรกิจเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารกิจการ โดย SMEs ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น การประยุกต์ใช้ระบบงานต่างๆ ที่ Google Apps ซึ่งมีให้บริการฟรีอยู่บางส่วน หรือการใช้ Open Source ของโปรแกรม Office เป็นการช่วยให้ SMEs ลดต้นทุน ส่วนกิจกรรมส่งเสริมธุรกรรมออนไลน์ด้วย e-supply chain ซึ่งเป็นระบบการค้าแบบ B2B (การค้าแบบธุรกิจกับธุรกิจ Business to Business) และเป็นการค้าภายใต้ห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน (Supply Chain) ชึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลหาซื้อวัตถุดิบในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุนผลิตสินค้าได้อีกด้วย (www.industry.in.th) นอกจากนั้นจะมีการพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งาน e-Procurement เพื่อให้ SMEs เชื่อมโยงระบบการจัดซื้อแบบ Real Time ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของ SMEs และช่วยเพิ่มยอดขายและขยายช่องทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้นได้ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริม SMEs ใช้ Green IT เพื่อลดต้นทุนในการผลิตโดยใช้ระบบ Dead Stock Management เพื่อช่วยลดต้นทุนในการเก็บสต๊อกสินค้าและเพิ่มมูลค่าของสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น
สำหรับกิจกรรมใหม่ในปีนี้ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คือกิจกรรมส่งเสริมให้ SMEs ใช้ Social Media เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาด โดยได้ออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมระยะยาว พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก ซึ่งแตกต่างจากการฝึกอบรมจากที่อื่นๆ โดยเน้นผู้เข้าอบรมต้องเป็น SMEs ที่ค้าขายใน Social Media อยู่แล้ว ในแต่ละรุ่นอบรมไม่เกิน 40 กิจการ จำนวน 6 ครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีผู้เชี่ยวชาญ ที่ประสบความสำเร็จจากการค้าขายใน Social Media มาเป็นหัวหน้าโค้ชเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำตลอดการฝึกอบรม หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแล้ว ก็จะช่วยให้ SMEs มียอดขายเพิ่มขึ้นจากการขายผ่าน Social Media และจากการประเมินผล SMEs ที่เข้าอบรม 115 กิจการ คาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท