กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) ประสานความร่วมมือกับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) นำร่องใช้หลัก 3R (Reduce Reuse และ Recycle) ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนุนให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรมในภาคอุตสาหกรรมไทย
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) เปิดเผยว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างมูลนิธิ 3 อาร์ และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) ในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดแนวทางการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยใช้หลัก 3R ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ตลอดจนการแสวงหาความร่วมมือกับทั้งภายใน และต่างประเทศในการพัฒนาและก่อให้เกิดระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยขอบเขตความร่วมมือ ของมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน(3อาร์) ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาแนะนำเชื่อมโยงในการจัดระบบการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยใช้หลัก 3R ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ประสานงานและเชื่อมโยงเครือข่ายระดับท้องถิ่นและส่วนกลางทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนรวมทั้งมีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ แนวทางการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยใช้หลัก 3R ให้แก่องค์กรในภาคอุตสาหกรรม โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 - 18 กรกฎาคม 2558
ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่าง พิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) ยินดีที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3อาร์) อย่างเต็มที่ในฐานะองค์กรภาคีและช่วยแสวงหาภาคี ความร่วมมือใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ได้ซึ่งการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยใช้หลัก 3R ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่จะสนับสนุนการศึกษาดูงานด้านเทคนิคและวิชาการ พร้อมจัดหาวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร รวมถึงเป็นกำลังหลักในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แนวทางการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยใช้หลัก3R เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่องค์กรภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของโครงการในอนาคต