กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นไทยได้เกิดการพัฒนาก้าวไกลทัดเทียมคนทั้งประเทศ ทั้งความรู้ ความสามารถ อีกทั้ง ปัญหาเด็กและเยาวชนที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศที่ทุกฝ่ายร่วมกันคิด ร่วมกันทำ มาเป็นเวลาช้านาน แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะหาโมเดลใดมาแก้โจทย์ยากตรงนี้ได้ การพัฒนาประเทศไม่เพียงแต่ทิ้งภาระให้กับภาครัฐเท่านั้น ในฐานะคนไทยถ้าหากมีไอเดียดีๆ ก็สามารถนำมาช่วยพัฒนาประเทศได้ อาทิ “หลักสูตรนักถักทอชุมชน” ที่กลายเป็นนวัตกรรมทางสังคม ที่นายกฯเล็ก ปลัดฯ ต่างยกนิ้วให้ เพราะได้เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานของทีมงานให้แอฟทีฟและเกิดกลไกในชุมชนก่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เพราะอะไรหลักสูตรฯ นี้ถึงถูกพูดถึง ฟังเสียงสะท้อนความสำเร็จที่มองเห็นเป็นรูปธรรมตัวอย่างจากผู้บริหาร นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก จ.สุรินทร์ ที่เห็นประโยชน์จากหลักสูตรฯ นี้ว่า “เพราะผมเห็นว่าชุมชนไปไกลแล้ว แต่ข้าราชการยังย่ำอยู่ที่เดิม เมื่อดูเนื้อหาและรายละเอียดของหลักสูตรเห็นว่ามีประโยชน์ โดยเฉพาะขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องลงมาทำโครงการร่วมกับชุมชน ซึ่งก็ตรงกับใจที่เราอยากให้น้องๆ เข้าไปเป็นจิ๊กซอว์ความสำเร็จของชุมชนลงไปฝังตัวอยู่กับกลุ่มชาวบ้านให้มากกว่าที่ทำอยู่ ถ้าถามถึงความรู้สึกตอนนี้ บอกได้เลยว่าภูมิใจกับพวกเขามาก วันนี้พวกเขาสามารถทำให้ชาวบ้านได้งาน ได้ประโยชน์จากคุณค่าที่เกิดจากมือของพวกเขาที่ “ร้อยเรียง” ทุน ปัญหา คน และชุมชนเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นกิจกรรมได้ วันนี้เห็นชัดว่าเด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ผู้ปกครองเปลี่ยนแปลง”
ธนินธร พิมพขันธ์ หรือ เอ็กซ์ หัวหน้าสำนักงานปลัด องค์การบริหารส่วนต.หนองขาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี นักถักทอฯ รุ่น 1 ผลจากการเข้าร่วมหลักสูตรฯได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพเด็ก เพื่อให้เด็กหนองขามมีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น โดยดึงเด็กและเยาวชนอายุ 9-12 ปี จำนวน 120 คน เข้าร่วมกิจกรรม 6 สัปดาห์ อาทิ กิจกรรมเชิงวิชากร พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม กิจกรรมจิตอาสา ฯลฯ เพื่อให้เด็กได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รู้จักบทบาทหน้าที่ตนเอง เอ็กซ์เล่าว่า “ผมเข้ามาหลักสูตรฯ นี้กับเพื่อนอีกสองคน เพื่อนำความรู้มาพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพขึ้น ตอนแรกผมไม่อยากมาเข้าร่วมเท่าไรเพราะเพิ่งเลื่อนตำแหน่ง ภาระงานก็เพิ่มขึ้น แต่พอผมมาเข้าอบรม 2 ครั้ง รู้เลยว่า “คิดไม่ผิด” ที่เชื่อท่านนายก (นายบุญยัง วังเปรม) เพราะทำให้เราได้กระบวนการทำงาน ได้เทคนิควิธีการพูดกับคนในชุมชน ได้เรียนรู้วิธีการกระจายงาน รวมไปถึงการสร้างเครือข่าย ทำให้ภาระหน้าที่ลดน้อยลงจนมีเวลาคิดงานอื่นได้มากขึ้น อ.ทรงพล จะเน้นที่การพัฒนา “ใจ” ก่อน พูดบ่อยๆ ว่าให้มองหมากทั้งกระดาน มองช้างทั้งตัว อาจารย์ยังนำแง่คิดเรื่อง “หลักการทรงงาน” ของในหลวงมาแนะนำเราด้วย”
เบื้องหลังความสำเร็จนี้ หนีไม่พ้นต้องไปคุยกับผู้จัดทำหลักสูตรฯ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสรส.ว่าที่ไปที่มาเป็นอย่างไร “ที่สรส.ลงมาทำเรื่องนี้เพราะอยากทำให้เป็น “หลักสูตร” หรือ “โมเดล” เป็นตัวอย่าง เราไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลสิ่งที่เราทำต้อง “สร้างนวัตกรรมทางสังคม” พยายามสร้างวิธีการ ซึ่งทุกคนอยากได้อะไรเยอะมาก แต่เขาไม่รู้วิธีการทำ เราเองมาทำเรื่องนี้ เพราะเราเห็นความสำคัญและเรามีประสบการณ์ร่วมยี่สิบปีในการทำงานกับชุมชนมาก่อน เราก็ใช้ประสบการณ์ของเรา มาสร้างสิ่งที่คิดว่าจะเป็นจุดคานงัดที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศโดยได้รับการเสริมหนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่เห็นประโยชน์ของการจัดทำหลักสูตรฯนี้ร่วมกัน” อ.ทรงพลเกริ่น
“ความสำเร็จของนักถักทอต้องดูย้อนหลังไปเมื่อก่อนนักถักทอสถานการณ์ของเขาเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่อบต.ส่วนใหญ่เขาทำงานตัวใครตัวมันแยกกันอยู่เพราะฉะนั้นการทำงานเป็นทีมในอบต.มีน้อย ประการที่หนึ่ง ประการที่สองก็คือเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยได้ลงไปคลุกกับชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะแต่อยู่ที่สำนักงานและชาวบ้านจะสะท้อนว่าทางอบต.ไม่ค่อยมาคลุกคลีกับชาวบ้านมากที่ควร มาดูจากฐานหนึ่งปีที่ผ่านไปจากที่ทางนักถักทอเองนั่งทำงานกันเป็นทีมในการที่เราให้เขาไปทำโครงงานเดียวกันแล้วช่วยกันทำ เหมือนกับเซ็ทเงื่อนไขให้เขาได้ทำงานร่วมกันเพราะฉะนั้นเป้าหมายแรกที่เราคิดว่าเขาจะทำงานเป็นทีมและเขาทำงานมีความก้าวหน้ามีความสำเร็จเพราะเราประเมินจากผลงาน ความรู้เราให้ไปเพื่อไปสร้างผลงาน เพื่อให้เขาไปสร้างกลไก สร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเราก็ถือว่าเขาสำเร็จระดับหนึ่งที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของชั่วโมงบินที่จะทำให้เก่งมากขึ้น มองในแง่ของการเริ่มต้นก็คิดว่ามันมีความก้าวหน้าพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการทำงานของเขา การทำงานเป็นทีม พอเขาลงไปทำงานในเรื่องเด็กและเยาวชนเขาพบว่าสิ่งที่เขาลงไปทำไม่ว่าเรื่องของสันทนาการ เรื่องการที่เขาใช้หลักทรงงานเช่นทำจากจุดเล็กไปจุดใหญ่ ทำให้เขาเห็นความสำเร็จความก้าวหน้าเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เห็นการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านที่เป็นผู้ปกครองมีการตอบรับเขามากขึ้น เขาก็แฮปปี้” อ.ทรงพลสะท้อนภาพความสำเร็จระดับหนึ่งของหลักสูตรฯ ที่เกิดการยอมรับในขณะนี้
และสุดท้ายหลักสูตรฯ นี้จะสำคัญอย่างไร อ.ทรงพลทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า “เพราะถ้ารัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลตำบล สามารถทำงานสร้างตอบโจทย์กับชุมชนได้มันก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งหลาย เพราะทุกคนก็คาดหวังว่าอปท.(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จะเป็นหน่วยเล็กที่สุดที่อยู่ใกล้ชุมชนและจะทำงานใกล้ชุมชนที่สุด ใกล้ประชาชนมากที่สุด แต่อย่างที่เรียนให้ทราบว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปแล้วทัศนคติ ความรู้ความสามารถ การทำงานกับชุมชน มันยังไม่มีถึงเราไปช่วยตรงนี้ก็ไปช่วยท้องถิ่นให้ไปทำงานกับชาวบ้านได้มากขึ้นและในระยะยาวจะมีการถ่ายโอนภาระกิจเยอะขึ้น การเตรียมคนในการรองรับภารกิจงานและผลนั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่อบต. ต้องไปดึงคนในชุมชน หรือผู้นำในชุมชน หรือคนในเรื่องราวต่างๆ ได้ลุกขึ้นมาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ทำงานอย่างแยกส่วนอีกต่อไป เริ่มต้นต้องเริ่มเปลี่ยนกระบวนคิดและกระบวนทัศน์ของการทำงาน” นักถักทอชุมชน หมายถึง เจ้าหน้าที่ทีมงานของอปท. ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ นักวิชาการศึกษา นักพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้บริหารมอบหมาย มีบทบาทในการประสาน เชื่อมร้อยและถักทอพลังชุมชนท้องถิ่น สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกาคส่วนในชุมชนทิ้งถิ่น เพื่อผลักดันให้เกิด “กลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน” ในพื้นที่
หลักสูตรนักถักทอชุมชน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น(4ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เริ่ม 19 มีนาคม 2556 – 19 มีนาคม 2558 สำหรับหลักสูตรนักถักทอชุมชนรุ่น1มีผู้จบหลักสูตรไปแล้ว จำนวน 13 ตำบล จำนวน 45 คน ได้แก่อบต.หนองสาหร่ายอบต.วัดดาว เทศบาลต.ไผ่กองดิน อบต.ไผ่กองดิน อบต.ดอนมะสังข์ และอบต.หนองขาม จ.สุพรรณบุรี อบต.ท่างาม อบต.ป่างิ้ว จ.สิงห์บุรี เทศบาลเมืองแก จ.สุรินทร์ อบต.หนองอียอ อบต.หนองสนิท อบต.เมืองลีง จ.สุรินทร์ เพิ่งเข้ารับประกาศนียบัตรไปเมื่อวันก่อน และจะมีการเปิดตัวนักถักทอรุ่น 2 อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 – 18 กรกฏาคม ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com
ประเทศชาติจะพัฒนาได้ถ้าหากทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ สำหรับ“หลักสูตรนักถักทอชุมชน” ที่มีข้อพิสูจน์เห็นได้ชัดว่า ได้ช่วยตอบโจทย์ให้ข้าราชการท้องถิ่นได้ในวันนี้