กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า
คุณธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า ขึ้นรับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2014 ประเภทกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป จากพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ในงาน Money & Banking Awards 2014 จัดโดยวารสารการเงินธนาคาร เป็นปีที่ 7 ทั้งนี้มีนายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องเดอะบอลรูม โรงแรมคอนราด เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่าน เพื่อยกย่องผู้บริหาร ธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทจดทะเบียนที่มีผลงานยอดเยี่ยมในรอบปีที่ผ่านมา
อนึ่งการเงินธนาคาร จัดอันดับกองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2557 โดยเป็นการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนย้อนหลัง ณ วันที่ 27 ธันวาคม 56 และมอบรางวัลทั้งหมด 11 รางวัลแก่กองทุนยอดเยี่ยมของอุตสาหกรรม
ทั้งนี้บลจ.ฟินันซ่า ประเมินหลังจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาดำเนินการบริหารประเทศหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม ปัญหาการเมืองสงบลงประกอบกับการยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวทั้งประเทศ ปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ ที่ค้างไว้ก็คลี่คลายลง มีความชัดเจนในด้านบริหารราชการและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 75.1% จากเดือนพฤษภาคม ที่ 70.7% แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและการเมืองดีขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศกำลังฟื้นตัว แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากตัวเลขการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเดือนพฤษภาคมตัวเลขส่งออกหดตัวร้อยละ 2.14 การลงทุนโดยแบ่งมาพักเงินลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อกระจายความเสี่ยงในช่วงแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศเริ่มมีความชัดเจนในการฟื้นตัวมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนในการขึ้นดอกเบี้ย โดยการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ประเภทครบกำหนดอายุโครงการประเภท 3 เดือนจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง
บลจ.ฟินันซ่า จึงออกเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน ชื่อกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน1 (FAM FIPR3M1) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.70% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 15 - 22 กรกฏาคม 57 ซึ่งเป็น กองทุนที่โรลโอเวอร์มาจากการขายกองทุนก่อนหน้านี้ เป็นกองทุน Specific fund
โดยกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน1 (FAM FIPR3M1) จะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินและ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia) หรือเงินฝากสกุลเงิน AED ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank, UAE (F1), ธนาคาร Union National Bank, UAE(P-1), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง(BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), บจ.บีเอสแอล ลีสซิ่ง(BBB) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น