กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ 5 ประเทศ (สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์) เศรษฐกิจยังขยายตัวในแดนบวก มีเสถียรภาพ กำลังซื้อสูง รายได้เฉลี่ยต่อคนสูงสุดติดอันดับ 20 ประเทศแรกของโลก แนะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยและผู้ประกอบการร้านอาหารไทยต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการลุยส่งออกอย่างจริงจัง
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยรายงานสถานการณ์ตลาดอาหารโลกซึ่งจัดทำโดยศูนย์อัจฉริยะอุตสาหกรรมอาหาร อ้างอิงการจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก (Global Competitive Index : GCI) โดย World Economic Forum ประจำปี ค.ศ. 2013-2014 พบว่า กลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ (Nordic)หรือภูมิภาคในยุโรปเหนือ ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ มีดัชนีความสุขติดอันดับต้นๆของโลกและยังได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสร้างสรรค์ 1 ใน 5 ของโลก จำนวนประชากรทั้ง 5 ประเทศรวมกันมีทั้งสิ้น 25.86 ล้านคน โดยสวีเดนมีประชากรมากที่สุด 9.52 ล้านคน รองลงมาคือ เดนมาร์ก 5.59 ล้านคน ฟินแลนด์ 5.41 ล้านคน นอร์เวย์ 5.02 ล้านคน และไอซ์แลนด์ 0.32 ล้านคน
โดยกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์มีขนาดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) 1,603.33 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ10 ของขนาดเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มนอร์ดิกส์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปไม่มากนัก โดยเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวในแดนบวก และหากพิจารณารายได้เฉลี่ยต่อประชากรจะพบว่าประเทศในกลุ่มนอร์ดิกส์ติดอันดับ 10 ประเทศแรกในยุโรปที่มีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูงสุด และติดอันดับ 20 ประเทศแรกของโลกที่มีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูงสุด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และถูกจัดลำดับประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนจากกลุ่มนอร์ดิกส์ได้ขยายฐานการลงทุนเข้ามายังภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้นซึ่งรวมประเทศไทยด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้กลุ่มนอร์ดิกส์ได้รับรู้วัฒนธรรมการบริโภคอาหารไทย
ประกอบกับในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รองจากชาวเอเชียตะวันออก ในปี พ.ศ. 2556 ชาวยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 6.30 ล้านคน ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ที่เดินทางมายังประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 798,400 คน คิดเป็นร้อยละ 13 ของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางมาประเทศไทย และเพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งการขยายร้านอาหารไทยไปยังประเทศในกลุ่ม นอร์ดิกส์ส์จึงมีสูง เนื่องจากนักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักและคุ้นชินกับอาหารไทยมากยิ่งขึ้น
นายเพ็ชร กล่าวว่า “สำหรับการค้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยกับกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ ถึงแม้จะเป็นตลาดขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป ด้วยสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.24 ของมูลค่าส่งออกอาหารของไทยไปภูมิภาคยุโรปทั้งหมด แต่ถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพสูงหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา นับจากปี พ.ศ. 2553 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 7,895.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2555 มูลค่าอยู่ที่ 8,073.48 บาท โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.24 ของมูลค่าการส่งออกอาหารของไทยไปยุโรป ส่วนในปี พ.ศ. 2556 มูลค่าลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7,385.73 ล้านบาท เนื่องจากความผันผวนของราคาสินค้าอาหารในบางรายการ แต่การขยายตัวในเชิงปริมาณการส่งออกยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปี พ.ศ. 2553 มีปริมาณส่งออก 0.132 ล้านตัน เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2556 อยู่ที่ 0.272 ล้านตัน
ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกส์ที่ไทยส่งออกอาหารไปมากที่สุด คือ ประเทศสวีเดน มีมูลค่าส่งออก 3,110.36 ล้านบาท รองลงมา คือ เดนมาร์ก 1,397.57 ล้านบาท ฟินแลนด์ 1,387.00 ล้านบาท นอร์เวย์ 1,352.10 ล้านบาท และไอซ์แลนด์ 138.70 ล้านบาท สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารที่มีการส่งออกรายการสำคัญ ได้แก่ เนื้อไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง กะทิสำเร็จรูป ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพดหวานปรุงแต่ง
อย่างไรก็ตามด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่ยอมรับสินค้าใหม่ๆ ได้ง่าย ส่วนใหญ่นิยมสินค้าที่มีนวัตกรรม มีการสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ แตกต่าง สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าและบริการที่ผลิตเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและสินค้าเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้กลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการส่งเสริมและพัฒนาด้านสุขภาพของประชากรเป็นลำดับต้นๆ ของโลกและหากพิจารณารายได้ต่อหัวประชากร จะพบว่าผู้บริโภคในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ส์มีอำนาจซื้อค่อนข้างสูง ดังนั้น ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกส์จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจ เป็นโอกาส เป็นจุดหมายใหม่ที่มีอนาคต และมีความท้าทายสูงสำหรับผู้ส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยและธุรกิจร้านอาหารไทย ที่ต้องเร่งผลักดันสินค้าและบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกันอย่างจริงจังต่อไป”