กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--ตีฆ้องร้องป่าว
“มหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 1” ชูประเด็น “กินเปลี่ยนโลก(โรค) กินเปลี่ยนรส กินเปลี่ยนร่าง” หวังส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภคและรับผิดชอบต่อสังคม แนะควรกินให้ถูกต้องพอดี สอดคล้องกับฤดูกาลตามวิถีชีวิตคนไทย พร้อมเผยแนวทางสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ปลอดอิทธิพลทางการตลาดด้วยการเสริมคุณค่าและฟื้นฟูข้าวพื้นบ้านขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคน 2557 ที่หอจดหมายพุทธทาส สวนโมกข์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายจัดงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคมนี้ โดยชูแนวคิดกินเปลี่ยนโลก (โรค) กินเปลี่ยนรส กินเปลี่ยนร่าง เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภคและรับผิดชอบต่อสังคม ได้จัดแถลงข่าวการจัดงาน และแสดงไฮไลท์สำคัญที่จะมีในงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 1 เช่น ซุปเปอร์มาร์เกตกินเปลี่ยนโลก, ข้าว 5 สี และพันธุกรรมข้าวต่างๆ, การใช้ชุดทดสอบหาสารเคมีอันตรายในอาหาร เป็นต้น
คุณวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า แนวคิดกินเปลี่ยนโลก (โรค) คือ การเลือกกินตามวิถีผลิตที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคก็จะมีสุขภาพที่ดี และสังคมต้องช่วยสร้างสมดุลที่เหมาะสม อุตสาหกรรม เขตเมืองหรือที่อยู่อาศัยไม่ควรเบียดเบียนพื้นที่แหล่งผลิตอาหาร ซึ่งถ้าไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ความมั่นคงทางด้านอาหารก็จะเกิดปัญหาระยะยาว
คุณวีรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการกินเปลี่ยนร่าง คือกินอย่างไรให้ร่างกายมีสุขภาพดี และ การกินเปลี่ยนรส คือการกินหวาน มัน เค็ม นั้น ทำลายสุขภาพอย่างไร โดยภายในงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 1 จะโยงหลักวิทยาการใหม่ๆ มีตัวอย่างของพืชอาหารท้องถิ่น ที่ให้รส หวาน มัน เค็มตามธรรมชาติ ไม่ต้องเติมเครื่องปรุงรสแต่อย่างใด เพราะพันธุ์พืชพื้นบ้านบางชนิด เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าทางเภสัชวัตถุ หรือพฤกษาเคมีที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่แล้ว ซึ่งในงานก็จะมีตัวอย่างพืชเหล่านี้ ว่าถ้าเราจะกินเปลี่ยนร่าง กินเปลี่ยนรส กินเปลี่ยนโรคจะต้องกินยังไง
ทางด้าน นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ กล่าวว่า อาหารเมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำหน้าที่ 3 ประการ คือหนึ่งช่วยสร้างเนื้อเยื่อหรือที่เรียกว่าซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สองให้พลังงานแก่ร่างกาย และสาม ให้กากใยอาหาร ซึ่งทุกวันนี้สังคมตื่นตัวเรื่องอาหารการกินมากขึ้น แต่คนบางกลุ่มยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการกินอยู่ เช่น บางคนกลัวอ้วนจึงเปลี่ยนไปกินอาหารที่มีไขมันน้อย เพราะเข้าใจว่าถ้าลดไขมันลง ก็จะให้ผอม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ทั้งหมด เพราะถ้ากินแล้ว ไม่ออกกำลังกาย ไม่ใช้พลังงานที่อาหารมอบให้ เราก็อ้วนอยู่ดี ดังนั้นควรกินให้พอดี แล้วออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นพ.ประพจน์ ยังแนะนำด้วยว่า การกินที่ถูกต้องนั้น ไม่ควรกินตามความอยาก กินให้พอดี ผู้ใหญ่ควรกินอาหารจำพวกโปรตีนวันละไม่เกิน 1 ขีด ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์ ควรเลือกกินโปรตีนที่มาจากพืชอย่างในถั่วเหลืองก็มีโปรตีนสูงถึง 33 เปอร์เซ็นต์ และกินควบคู่กับอาหารที่ให้กากใยมากๆ
ขณะที่ คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย กล่าวว่า ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญและมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่อยู่รอบตัวเราผ่านการกิน เพราะถ้าเราไม่สามารถรู้ที่มาของสิ่งที่เรากิน เราก็ไม่สามารถเลือกกินได้อย่างเหมาะสม เช่น การกินให้รู้รสว่ามีรสอะไรอยู่ในนั้น อย่าง รสเปรี้ยว ก็จะมีเปรี้ยวมะนาว มะขามเปียก มะดัน มะกรูด ซึ่งเดี๋ยวนี้มีรสเปรี้ยวของปลอมเยอะมากและทำลายสุขภาพ ดังนั้นการกินที่รู้รสจะทำให้เราเลือกกินอาหารที่ดีๆ มีประโยชน์ต่อร่างกายได้
“กินเปลี่ยนโรค จะทำให้เปลี่ยนโลกได้ เพราะการเลือกกินอาหารให้สอดคล้องกับฤดูกาล กับสิ่งที่เรามีอยู่ แล้วเลือกรสอาหารให้สอดคล้องกับที่เรามีด้วย มันจะส่งผลดีต่อสุขภาพของเราเองโดยอัตโนมัติ เพราะเรากินของที่มีความหลากหลาย มีวิตามินโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แล้วมันก็จะผสมผสานกันไป ซึ่งนี่ก็คือตำรับการกินแบบไทย ถ้าทำได้ ก็จะนำไปสู่ กินเปลี่ยนรส กินเปลี่ยนร่าง กินเปลี่ยนโรค และกินเปลี่ยนโลก” คุณกิ่งกร กล่าว
ส่วน คุณสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในงานนี้เราจะนำเสนอเรื่องข้าวพื้นบ้าน ในประเด็นความหลากหลายคือความมั่นคง เพราะเดิมทุกๆชุมชนไทยจะปลูกข้าวพื้นบ้านไม่ต่ำกว่า 5 สายพันธุ์ และยังอีกกว่า 20 สายพันธุ์ตามสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่นา ดังนั้นข้าวพื้นบ้านจะมีความทนทาน โดยไม่ต้องใช้สารเคมีสังเคราะห์ ข้าวจะงามและให้ผลผลิตสูงด้วยตัวมันเอง แล้วยังให้คุณค่าทางโภชนาการที่ต่างกัน
“ที่ผ่านมาข้าวพื้นบ้านเหล่านี้ถูกนโยบายการพัฒนาพันธุ์ข้าวชี้นำ และครอบงำโดยอิทธิพลทางการตลาด ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาข้าวเมล็ดยาวเป็นหลัก ทำให้ข้าวพื้นบ้านไม่มีที่ยืนทางการตลาด และไม่เป็นที่รู้จัก เพราะฉะนั้นคนกินข้าวก็จะรู้จักข้าวเท่าที่ระบบตลาดนำเสนออยู่” คุณสุภา กล่าว
สำหรับงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไทในครั้งที่ 1 นี้ จะนำข้าวมากกว่า 30 สายพันธุ์มานำเสนอให้แก่ผู้บริโภคได้เห็น และมีข้าวพื้นบ้านบางสายพันธุ์ได้ซื้อกลับไปลองรับประทานที่บ้าน พร้อมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกษตรกรในเครือข่ายนำมาขาย เช่น ข้าวต้มมัดจากข้าวเหนียวเขี้ยวงู, ข้าวแต๋นจากข้าวเล้าแตก, ข้าวเกรียบว่าว จากข้าวอีหนอนน้อย, ขนมจีนจากข้าวจ้าวแดงหรือขนมจีนที่ทำจากข้าวเนียงกวง (สุรินทร์) ตลอดจนนำเสนอข้าวสีต่างๆ เช่น สีดำ สีแดง สีขาว สีเหลือง
นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาวิชาการ อาหารอินทรีย์วิถีแห่งอนาคต กิจกรรมอบรม การทำอาหาร การปลูกผัก, ตลาดนัดอาหารท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านทุกภาค และภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพตามวิถีไท ยาต้ม สมุนไพรริมรั้ว นวดไทย, วิธีดูและเลือกอาหารให้ได้คุณภาพในบ้าน “รู้อยู่ รู้กิน”, การแสดงสายพันธุ์เห็ดที่เป็นทั้งอาหารและยา, การผูกปิ่นโตข้าวหรือให้ผู้ลิตข้าวพบผู้บริโภคโดยตรง, สวนบำบัดสำหรับผู้พิการ และกิจกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค การสอนเรื่องวิธีอ่านฉลากอาหาร และการทดสอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ความปลอดภัยด้านฉลากอาหาร และมีการประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียน เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 ก.ค.2257 ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี ฮอลล์ 8 สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิสุขภาพไทย โทร.0-2589-4243 www.thaihof.org หรือเฟสบุ๊ก www.facebook.com/thaifoodforhealth