กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารสาธารณะของเครือข่ายกู้ชีพ เพื่อความปลอดภัยทางถนน (นักสื่อสารกู้ชีพ) ที่โรงแรมเมาท์เทนบีช พัทยา เมื่อเร็วๆนี้ โดยการอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และฝึกทักษะให้กับเจ้าหน้าที่เครือข่ายกู้ชีพให้สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการผลิตสื่อในรูปแบบของการเขียนข่าว สกู๊ปข่าว บทความ ในประเด็นด้านการแพทย์ฉุกเฉินโดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุที่ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากได้ด้วยตัวเอง และยังเป็นการเปิดพื้นที่ในการสื่อสารในเรื่องราวของอาสาสมัครกู้ชีพผ่านเครื่องมือการสื่อสารสู่สาธารณะได้
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เนื่องจากกระแสยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความทันสมัยของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ยุคนี้กลายเป็นยุคสังคมข่าวสาร โดยสื่อมวลชนได้เข้ามามีบทบาทต่อการทำงานในหลากหลายองค์กร ซึ่งในงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินก็เช่นกัน อาสาสมัครกู้ชีพก็ถือเป็นหนึ่งผู้ขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ เป็นแหล่งข่าว เป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์สำคัญ และเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้าไปถึงเหตุการณ์ ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพจึงต้องมีการปรับตัว เรียนรู้ และปรับพฤติกรรมจากการเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล กลายเป็นผู้สังเคราะห์ประเด็น และนำเสนอต่อสังคมในวงกว้างด้วย เพื่อสร้างการตระหนักรู้เรื่องการดูแลตัวเองและการป้องกันการเกิดอุบัตเหตุจราจร โดยอาสาสมัครกู้ชีพจะต้องเป็นทั้งแหล่งข่าวและผู้สื่อข่าวในตัวเอง สร้างความเข้าในร่วมกันต่อประชาชน และสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อสื่อสารมวลชนในประเด็นเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตามสำหรับกิจกรรมในการจัดอบรมครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาการใช้เครื่องมือทางการสื่อสารสังคมในการพัฒนาศักยภาพของผู้เข้าอบรม และยกระดับขีดความสามารถในการสื่อสารสาธารณะด้านต่างๆ อาทิ การเขียนรายงานสารคดีเชิงข่าว การเขียนข่าวเพื่อการสื่อสารสาธารณะ การเรียนรู้และจัดทำการสื่อสารสาธารณะออนไลน์ รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน เพื่อสร้างการตระหนักรู้และป้องกัน พร้อมกันนี้เครือข่ายกู้ชีพที่เข้าอบรมในครั้งนี้ ยังสามารถเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่ด้านการสื่อสารสาธารณะได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ประกอบด้วยคนที่ทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และมีบทบาทการทำงานหรือสนใจนำทักษะด้านการสื่อสารสาธารณะ จำนวน 30 คน จากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ถนนสุขุมวิท (สายตะวันออก) เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 เริ่มต้นที่ อำเภอพัทยา จังหวัดชลบุรี ถึง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง รวมระยะทาง 125 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนที่มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง นอกจากนี้จะมีการจัดอบรมอีก 4 รุ่น ในพื้นที่ที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูงเพื่อขยายเครือข่ายนักสื่อสารกู้ชีพต่อไป