กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (โชห่วย) ในเมืองพัทยาในฐานะตัวแทนของสมาคมการค้ายาสูบไทยซึ่งมีร้านค้าปลีกสมาชิกทั่วประเทศ 1,400 ร้านค้า แสดงความกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบที่กลุ่มรณรงค์ต่อต้านออกมากล่าวว่ากำลังพยายามผลักดันนำเสนอแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลานี้ โดยแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบชนิดสุดโต่งนี้จะสร้างภาระอันหนักหน่วงให้แก่ภาคธุรกิจค้าปลีกยาสูบโดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่ถือใบอนุญาตขายบุหรี่ซิกาแรตจากกรมสรรพสามิตกว่า 870,000 รายทั่วประเทศ
ผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเขตพัทยาใต้ กล่าวว่า “ติดตามข่าวร่าง พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบมาตลอดและทราบว่าทางหน่วยงานเอ็นจีโอเขากำลังพยายามเร่งเสนอให้กับคสช.อนุมัติ ร้านค้ามีความกังวลมาก เพราะมีข้อห้ามใหม่ๆ ที่จะกระทบการค้าและรายได้ของเราอย่างแน่นอน อย่างเรื่องการจำกัดสถานที่การขายหรือวิธีการขาย ห้ามแบ่งขาย คนซื้อเขาไม่ได้อยากได้ทั้งซองหรือบังคับให้เราส่งรายงานประจำปีที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายในการจัดทำให้กับหน่วยงานรัฐ เราก็กังวล เราเองก็โดนบีบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก่อนหน้านี้ นักท่องเที่ยวก็หดหาย กฎหมายนี้จะยิ่งทำให้การค้าขายย่ำแย่”
จากตัวเลขของสมาคมการค้ายาสูบไทย มูลค่าอุตสาหกรรมยาสูบในเขตชลบุรี-พัทยาอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาทต่อเดือน โดยส่วนแบ่งของยาสูบไทยอยู่ที่ราวร้อยละ 80 นอกนั้นจะเป็นผู้นำเข้ารายอื่นจากต่างประเทศและเพื่อนบ้าน ด้านช่องทางการค้าในเขตพื้นที่พัทยาและจังหวัดในภาคตะวันออก กว่าร้อยละ 60 เป็นการค้าขายผ่านช่องทางร้านค้าปลีกขนาดเล็กแบบดั้งเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าร้านค้าปลีกโชห่วยเหล่านี้เป็นส่วนเร่งเศรษฐกิจสำคัญในหัวเมืองโดยเฉพาะในเขตที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกระจุกตัว ทั้งนี้ผลการศึกษาเผยว่าบุหรี่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของสินค้าที่ทำรายได้ให้ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม ร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับใหม่จะส่งผลกระทบต่อการค้าและความเป็นอยู่ของผู้ค้าปลีกรายเล็กเหล่านี้
“สมาคมฯ ได้สื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องข้อกังวลของร้านค้าและสมาชิกของเราที่มีต่อร่างพรบ. ควบคุมการบริโภคยาสูบมาโดยตลอด หลายๆ มาตราในร่างฯเป็นการสร้างภาระและลิดรอนสิทธิของผู้ประกอบการค้าปลีก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกับร้านค้าด้วย สมาคมฯ เห็นว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมยาสูบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีบทบัญญัติที่เข้มงวดอยู่แล้ว เพียงแต่การบังคับใช้ยังขาดประสิทธิภาพ ภาครัฐจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย มากกว่าการออกกฎหมายใหม่โดยไร้ความจำเป็น” นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าว