กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เสริมทัพความพร้อมเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ เผยเทคนิคการซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัด โดยใช้ห้องผ่าตัดไฮบริด ซึ่งเป็นการนำห้องสวนหัวใจ และห้องผ่าตัดหัวใจมารวมกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากการสวนหัวใจ หรือระหว่างใส่ขดลวดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ที่สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที โดยไม่ต้องย้ายเตียงหรือย้ายห้อง เพื่อช่วยให้การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของลิ้นหัวใจ หรือผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคหัวใจที่ซับซ้อนได้อย่างแม่นยำ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
นายแพทย์โกสินทร์ ทัพวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เปิดเผยว่า โดยทั่วไปแล้วความผิดปกติของลิ้นหัวใจอาจมีซ่อนเร้นอยู่ในคนเราได้แบบไม่แสดงอาการ วิธีการตรวจร่างกายประจำปีโดยแพทย์จะช่วยค้นพบสิ่งผิดปกติเหล่านี้ได้ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันการอักเสบติดเชื้อของลิ้นหัวใจ สำหรับการรักษาโรคลิ้นหัวใจมีวิธีหลักๆ คือ การทำบอลลูน หรือใส่สเต็นท์ (Stent) เข้าไปเพื่อถ่างหลอดเลือดหัวใจที่ตีบให้สามารถทำงานได้อย่างปกติ โดยใช้วิธีการสอดใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดหรือที่เรียกว่า การทำ Catheter based inter– vention และวิธีที่ 2 คือ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ที่ในอดีตต้องใช้การผ่าตัดแบบเปิดทรวงอก ปัจจุบันสามารถนำเทคนิคการใส่สายสวนหัวใจมาใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมได้ โดยเทคนิคดังกล่าวเรียกว่า ทาวี่ (TAVI) หรือ Transcatheter Aortic Valve Implantation เป็นการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมด้วยเทคนิคการใช้สายสวนแบบไม่ต้องผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีภาวะการตีบรุนแรงของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ที่เรียกว่า ลิ้นหัวใจเอออติกส์ (aortic valve) โดยส่วนใหญ่การตีบมักเกิดจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจเองแต่มีส่วนน้อยเกิดจากความผิดปกติหรือพิการของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด สำหรับหลักการของ TAVI คือ การใช้ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อ ยึดติดอยู่กับขดลวดพิเศษซึ่งสามารถม้วนให้เล็กเพื่อเข้าไปอยู่ในท่อเล็กประมาณ 8-10 มิลลิเมตรของ Delivery system จากนั้นก็สอด Delivery system ไปตามหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ (Trans femoral route) ไปยอดของหัวใจห้องล่างซ้าย ไปจนถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออติกส์ จากนั้นจึงทำการปล่อยตัวลิ้นหัวใจที่ม้วนอยู่ออกมาจาก Delivery system ซึ่งจะทำให้ลิ้นหัวใจกางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจอันใหม่ ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง หรือบริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือด้านบนของหน้าอกข้างขวา ข้อดีของการทำผ่าตัดในลักษณะนี้ คือ ผู้ป่วยไม่ต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่, ไม่ต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม การเสียเลือดจากการผ่าตัดน้อยกว่า การพักฟื้นเร็วโดยประมาณ 2-3 วันก็สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งการรักษาด้วยเทคนิคที่เรียกว่า TAVI นี้ นอกจากปัจจัยในส่วนของผู้ป่วยที่ต้องมีข้อบ่งชี้ในการทำผ่าตัด และความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์หัวใจแล้ว อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงและมีความจำเป็นอย่างมาก โดยจำเป็นต้องทำในห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid OR) ซึ่งเป็นห้องผ่าตัดที่มีศักยภาพในการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจทางสายสวน หรือการซ่อมลิ้นหัวใจหรือใส่ขวดเลือดในเส้นเลือดใหญ่โดยใช้เครื่อง Fluroscopy ที่มีประสิทธิภาพพร้อมกับเตียงผ่าตัดพิเศษ จุดเด่นของห้องผ่าตัดไฮบริด คือ การนำศักยภาพของห้องสวนหัวใจและห้องผ่าตัดหัวใจและเส้นเลือดมารวมกันไว้ในห้องเดียวเพื่อใช้ในการผ่าตัดร่วมกับการสวนหัวใจ โดยใช้เตียงผ่าตัดที่สามารถปรับมุมและเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ 360 องศา พร้อมระบบการนำภาพเอกซเรย์แบบ Flex move Heart Navigator และการติดตั้ง Software Heart Navigator ซึ่งสามารถถ่ายภาพหัวใจได้ทุกมุมอย่างละเอียด เพื่อให้แพทย์สามารถกำหนดและชี้จุดในการผ่าตัดหรือทำหัตถการได้อย่างแม่นยำ และปลอดภัยมากขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากการสวนหัวใจ หรือระหว่างใส่ขดลวดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ ก็สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที โดยไม่ต้องย้ายเตียงหรือย้ายห้อง
นพ. ระพินทร์ กุกเรยา หัวหน้าอายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า นอกจากการรักษาด้วยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจดังกล่าวแล้ว ห้องผ่าตัดไฮบริดสามารถใช้ในการซ่อมลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่างซ้ายด้วยวิธีการใช้สายสวนผ่านผิวหนังและหลอดเลือดดำ ซึ่งลิ้นหัวใจ Mitral ที่รั่ว ส่งผลให้โลหิตที่ไหลผ่านลงสู่หัวใจห้องล่างซ้ายไหลย้อนกลับเข้ามาที่ห้องบนซ้ายขณะที่หัวใจกำลังบีบตัว ทำให้หัวใจห้องบนซ้ายไม่สามารถรับโลหิตที่ฟอกจากปอดกลับเข้ามาได้เต็มที่ โลหิตจึงไปคั่งอยู่ในปอด ส่งผลให้ความดันในปอดสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ นอกจากนี้ ปริมาณโลหิตที่สูบฉีดจากหัวใจห้องล่างซ้ายไปเลี้ยงร่างกายจะลดลงตามไปด้วย จากโลหิตจำนวนหนึ่งที่ไหลกลับไปยังห้องบนซ้าย จากลิ้นที่ปิดกั้นไม่สนิท อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในเวลาต่อมา การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจจึงเป็นวิธีการรักษาหลักเพื่อแก้ไขภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งไม่เกิดผลกระทบมากนักในผู้ชายที่มีสภาพร่างกายแข็งแรงและอายุน้อย ความเสี่ยงจากการผ่าตัดมีน้อย แต่วิธีการผ่าตัดนี้อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมาก มีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดสูง จึงได้มีการคิดค้นหาวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและอาจช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นได้ เทคโนโลยีดังกล่าวคือ การซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่รั่วมากให้รั่วน้อยลง หรือในบางกรณีแทบจะไม่มีรอยรั่วเลย โดยการใช้คลิป (MitraClip) ไปรั้งเหนี่ยวลิ้นหัวใจที่เปิดกว้างมากๆ ให้เหลือน้อยลง จนสามารถปิดได้เกือบสนิท อาจมีรอยรั่วอยู่บ้างแต่ก็น้อยมากในขนาดที่ร่างกายสามารถรับได้
ลักษณะสำคัญของเทคโนโลยีนี้คือ ไม่ต้องมีการผ่าตัดเปิดหน้าอก แต่จะใช้เข็มและสายสวนผ่านหลอดเลือดดำที่ขาหนีบ หรือในบางกรณีสามารถผ่านทางหลอดเลือดดำเหนือรักแร้ได้ โดยสายสวนนี้จะผ่านเข้าไปถึงหัวใจห้องบนขวา จากนั้นจะใช้เข็มนำทางผ่านช่องเล็กๆ ที่ผนังกั้นหัวใจช่องบนขวาและซ้าย เพื่อผ่านเข้าไปยังหัวใจห้องบนซ้าย จากนั้นจึงใช้คลิปซึ่งเป็นตัวหนีบจับบริเวณของลิ้นหัวใจที่มีรอยรั่วมากที่สุดหนีบเข้าด้วยกัน ทำให้ลิ้นหัวใจปิดได้สนิทมากขึ้น มีรอยรั่วน้อยและไม่เกิดรอยรั่วกลับมา ดังนั้น เมื่อจะใช้วิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจโดยละเอียดด้วย Tranesophageal Echocardiogram และ 3-D Echocardiogram (3 มิติ) เพื่อดูความเหมาะสมของลิ้นหัวใจ โรคพื้นฐานที่ทำให้เกิดการรั่วของลิ้นหัวใจว่าสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์คมกริช ฐานิสโร อายุรแพทย์ด้านหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ห้องผ่าตัด Hybrid สามารถใช้ผ่าตัดโรคของหลอดเลือดและอวัยวะนอกหัวใจ เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างห้องผ่าตัดที่สมัยเข้ากับเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดที่ทันสมัย ซึ่งทำให้การรักษาสามารถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยก็มีมากขึ้นเช่นกัน นอกเหนือจากการรักษาโรคหัวใจแล้ว การใส่อุปกรณ์ผ่านหลอดเลือดแดงเพื่อเข้าไปทำการรักษาโรคของหลอดเลือดแดงเอง หรือเพื่อเข้าถึงอวัยวะต่างๆ โดยการเปิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กๆ สามารถทำได้โดยง่ายและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษามากขึ้น หากมีการผ่าตัดร่วมด้วย เช่น การขยายหลอดเลือดแดงที่ตีบสามารถใช้ทั้งวิธีการขยายด้วยบอลลูนหรือการใส่หลอดเลือดเทียมไปพร้อมๆกัน การรักษาหลอดเลือดแดงเอออร์ต้าโป่งพองสามารถรักษาโดยเปิดแผลผ่าตัดเล็ก ใช้อุปกรณ์สอดใส่ผ่านหลอดเลือดได้โดยไม่ต้องเปิดหน้าท้องหรือเปิดช่องอก หรือบางกรณีหากมีการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ร่วมด้วยก็ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในเวลาเดียวกัน ซึ่งหากเปรียบเทียบการรักษาด้วยการผ่าตัดที่ยากและซับซ้อนเหมือนกับการเดินทางสู่เป้าหมายที่กันดารและมีอุปสรรค การใช้ห้องผ่าตัด Hybrid ก็เปรียบเสมือนการเดินทางสู่เป้าหมายโดยอาศัยพาหนะเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศร่วมกัน โดยมีการใช้ดาวเทียมนำทาง จึงทำให้เราสามารถเข้าถึงที่หมายได้โดยสำเร็จและปลอดภัยนั่นเอง