กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในฐานะที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความเสี่ยงทั้งในด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา ตลอดจนความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า
กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ โดยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนการเติบโตของธุรกิจเอทานอล และรายได้ที่คงที่จากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลได้
บริษัทน้ำตาลขอนแก่นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ณ เดือนเมษายน 2557 ตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนรวม 70.0% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทยโดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม ณ เดือนพฤษภาคม 2557 เท่ากับ 102,000 ตันอ้อยต่อวัน ทั้งนี้ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 8.5 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2556/2557 และผลิตน้ำตาลได้ 900,665 ตัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 8.2% ในปีการผลิต 2556/2557 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 19.4% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 15.5% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 9.6%
ตั้งแต่ปีการเงิน 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและเอทานอล ในช่วงปี 2556 จนถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้รวม
นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยแล้ว กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นยังดำเนินธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาด้วย โดยโรงงานน้ำตาลในประเทศดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปีการผลิต 2553 หลังจากที่บริษัทประสบกับปัญหาผลผลิตอ้อยต่อไร่ตกต่ำจากโรคระบาดในอ้อยเป็นระยะเวลาหลายปี ในช่วงปีการผลิต 2556/2557 ผลผลิตอ้อยในประเทศลาวและกัมพูชาเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 2.9 ตันอ้อยต่อไร่ในปีการผลิต 2555/2556 มาอยู่ที่ 7.9 ตันอ้อยต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ราคาส่งออกน้ำตาลทรายดิบไปยังกลุ่มประเทศยุโรปลดลง 36% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 จากปัญหาผลผลิตล้นตลาดในกลุ่มประเทศยุโรป จึงทำให้ผลประกอบการของบริษัทในประเทศลาวและกัมพูชายังคงขาดทุนที่ 67 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557
จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่ยังคงปรับตัวลดลงทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2556-2557 ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง โดยบริษัทมีรายได้ลดลง 15% เป็น 18,941 ล้านบาทในปีการเงิน 2555-2556 จาก 22,212 ล้านบาทในปีการเงิน 2554-2555 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 รายได้รวมเท่ากับ 7,429 ล้านบาท ลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปี 2555-2556 เนื่องจากลูกค้าชะลอการส่งมอบน้ำตาลออกไปเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ทำให้ปริมาณส่งออกน้ำตาลรวมลดลง 25.3% อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงจาก 25.8% ในปีการเงิน 2555 มาอยู่ที่ระดับ 21.0% ในปีการเงิน 2556 เนื่องจากราคาน้ำตาลที่ลดลงและต้นทุนที่สูงขึ้นจากปัญหาเครื่องจักรและผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยตกต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 33.5% จากสัดส่วนการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวที่สูงในระหว่างไตรมาสและต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทที่เพิ่มขึ้นยังมาจากอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มพลังงานที่สูงขึ้นด้วย ในปีการเงิน 2556 การเติบโตของความต้องการใช้เอทานอลในประเทศส่งผลทำให้ราคาขายอ้างอิงของเอทานอลเพิ่มขึ้น 15.1% มาอยู่ที่ระดับ 24.13 บาทต่อลิตร ในปีการเงิน 2556 ราคาขายเอทานอลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 27.45 บาทต่อลิตรในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2557 หรือเพิ่มขึ้น 26.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเอทานอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.0% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2557 นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับสูงที่ 53.8% ในช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัท ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2557 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2,229 ล้านบาท จาก 1,901 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556
อัตราการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 57.3% ณ สิ้นปีการเงิน 2556 ในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับสูงตามฤดูกาลที่ 66.15% เนื่องจากเป็นช่วงหลังสิ้นสุดฤดูกาลหีบอ้อย อย่างไรก็ตาม อัตราการก่อหนี้ของบริษัทคาดว่าจะลดลงตอนสิ้นปีการเงิน ในช่วงปีการเงิน 2557-2559 แผนการลงทุนในโครงการต่างๆ ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี โดยล่าสุดบริษัทประกาศลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท มัดแมน จำกัด ซึ่งประกอบกิจการอาหารและร้านอาหารของไทยคิดเป็นสัดส่วน 9.3% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วด้วยเงินลงทุนรวม 350 ล้านบาท เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปีและแผนการลงทุนของบริษัทคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะลดลงต่ำกว่าระดับ 60% ได้ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
คาดว่าราคาน้ำตาลจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2557 เนื่องจากอุปทานที่ยังคงล้นตลาด โดย Foods and Agricultural Organization แห่งองค์การสหประชาชาติประมาณการว่าผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 182.0 ล้านตันในปีการผลิต 2556/2557 โดยผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงในประเทศบราซิล กลุ่มประเทศประชาคมยุโรป และเม็กซิโก จะสุทธิกับปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย และอาฟริกาใต้ ส่วนความต้องการบริโภคน้ำตาลคาดว่าจะเติบโต 2.1% เป็น 179.6 ล้านตันในปีการผลิต 2556/2557 ดังนั้น ปริมาณผลิตน้ำตาลจะเกินความต้องการเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KSL14DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A
KSL15DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A
KSL174A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2562 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable