กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--กรมอนามัย
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม เชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาสถานบริการออกกำลังกายสู่มาตรฐานกรมอนามัย”ว่าเนื่องจากปัจจุบัน กระแสการใช้บริการจากสถานบริการออกกำลังกายหรือฟิตเนสกำลังได้รับความนิยม อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเขตตัวเมืองขนาดใหญ่ ส่งผลให้ธุรกิจบริการเพื่อการออกกำลังกายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าตลาดสูงขึ้นโดยปัจจุบันพบว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตราว 10% ต่อปี แต่สิ่งที่ตามมาคือปัญหาในเรื่องมาตรฐานของการให้บริการจากสถานบริการนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ในการออกกำลังกาย ผู้ฝึกสอนหรือ บุคลากรผู้ให้บริการที่จะต้องคอยดูแลและให้คำแนะที่ถูกต้องแก่ผู้มารับบริการเพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุระหว่างการออกกำลังกาย รวมทั้งเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัย การมีเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการออกกำลังกายที่ได้มาตรฐาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินกับผู้ใช้บริการต้องสามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย ที่ผ่านมาการดูแลสถานบริการออกกำลังกายยังขาดการตรวจเช็คประวัติและร่างกายของผู้มาใช้บริการว่ามีความเสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง โดยเมื่อเร็วๆนี้พบว่ามีข่าวเรื่องการเสียชีวิตของผู้มาใช้บริการจากสถานบริการออกกำลังกายตามสื่อต่างๆด้วย
ดังนั้นสถานบริการจะต้องไม่เน้นขายแพ็คเกจอย่างเดียว ควรต้องใส่ใจการตรวจเช็คสุขภาพของผู้มารับบริการด้วย ตั้งแต่การซักประวัติ ว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ มีการตรวจหัวใจ ตรวจความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลในเลือดดูว่ามีภาวะของโรคเบาหวานหรือไม่ พร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับผู้มารับบริการว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะ เกิดประโยชน์และไม่เกิดผลเสียจากการออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้อง เพราะในการออกกำลังกายนั้นทุกคนไม่สามารถทำได้เท่ากันหรือเหมือนกันหมด และที่สำคัญต้องไม่เอาเปรียบผู้มาใช้บริการทั้งด้านราคาและการใช้บริการด้านอื่นๆด้วย
“จากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทางกรมอนามัยจึงมีแนวคิดที่จะจัดระเบียบสถานบริการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานกรมอนามัยและทำให้เกิดมาตรฐานในสถานบริการออกกำลังกายทุกแห่งในประเทศไทย โดยกำหนดให้สถานบริการออกกำลังกายต้องดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐาน 5 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย 1) มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารและคุณลักษณะภายในมีความมั่นคง แข็งแรง เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 2) มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย เช่น มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาด และพร้อมใช้งานทุกวัน3) มาตรฐานการให้บริการ เช่น จัดทำป้ายคำแนะนำ/คำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน 4) มาตรฐานด้านบุคลากร ผู้ให้บริการ เช่น บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ต้องมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือพลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (Instructor Exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา และ 5) มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต มีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการซ้อมแผน เป็นต้น” ดร.นพ.พรเทพ กล่าว