กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในงานแถลงข่าววันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๑๙กระทรวงวัฒนธรรม ว่า กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย โดยจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ ด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชน ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และการอนุรักษ์ภาษาไทยและภาษาท้องถิ่นอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมอันยาวนาน ตลอดจนการสืบสานภาษาไทยให้คงอยู่ และถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินการคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย เพื่อเป็นแบบอย่างให้เยาวชน และประชาชน รวมทั้งยังได้ดำเนินการโครงการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลง ที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ นักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ทางภาษา วรรณศิลป์ คีตศิลป์และจินตนาการได้อย่างเหมาะสม และนักร้องที่ออกเสียงขับร้องเพลงได้อย่างชัดเจน ถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลให้แก่บุคคลแบบอย่างด้านภาษาไทย เป็น ๔ ประเภท ได้แก่ ๑.ด้านปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการภาษาไทย จำนวน ๑ ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ ๒.ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เป็นบุคคลที่มีผลงงานการสร้างสรรค์ภาษาไทย และสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมจำนวน ๙ คน ได้แก่ นางสาวเขมสรณ์ หนูขาว นางเตือนใจ บัวคลี่ รองศาสตราจารย์นพดล จันทร์เพ็ญ นางนันทพร ศานติเกษม (ปิยะพร ศักดิ์เกษม) รองศาสตราจารย์นันทา ขุนภักดี รองศาสตราจารย์ปิตินันธ์ สุทธสาร รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ ศาสตราจารย์อัจฉรา ชีวพันธ์ และรองศาสตราจารย์อัมพร สุขเกษม ๓.ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น เป็นผู้ที่มีผลงานการสร้างสรรค์ภาษาไทยถิ่น และสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสม จำนวน ๖ ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์เกษม ขนาบแก้ว นายพญอม จันนิ่ม นางพยอม ถิ่นถา ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรชัย ศรีสารคาม ร้อยตรีวีระชัย ครองยุทธ และนางสุพิน ฤทธิ์เพ็ญ และ๔.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นบุคคลหรือองค์กรที่มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประเภทบุคคล จำนวน ๒ ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์เรณู วิชาศิลป์ และศาสตราจารย์อนันต์ชัย เลาหะพันธุ ประเภทองค์กร จำนวน ๗ แห่ง ได้แก่ กลุ่มวรรณกรรมสัญจร ชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยวัดไทยลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาไทย วัดบุญญาราม รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไท วัดท่ากระดาษ จังหวัดเชียงใหม่ สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ส่วนกิจการสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และสำนักกวีน้อยเมืองนคร
นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ได้ดำเนินการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ประพันธ์ นักร้อง เพลงไทยสากล และลูกทุ่งที่ออกเสียงได้ถูกต้องตามอักขระภาษาไทย เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ทั้งนักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ด้านภาษา วรรณกรรม และนักร้องที่ร้องเพลงออกเสียงชัดเจน และถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาไทย โดยมีผู้ได้รับการประกาศยกย่องและมอบรางวัลทั้งประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง และเพลงไทยสากล ได้แก่ ๑.รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษศิลปินผู้มีคุณปการต่อการสร้างสรรค์เพลง ได้แก่ นายมนตรี ตราโมท ๒.รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลง ได้แก่ นายไพบูลย์ สำราญภูติ (คีตา พญาไท) ๓.รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษเพลงชุดดีเด่นในอดีต ได้แก่ ชุดปริญญาชาวนา ผู้ประพันธ์ นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ ๔.รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษผู้จุดประกายวงการเพลงเด็ก ได้แก่ วงดนตรีสองวัย ผู้จัดการวง นางสาวปิยนุช บุญประคอง ๕.รางวัลเชิดชุเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต จำนวน ๒ รางวัล คือ ประเภทเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลงบ้านของเรา นายสติ สติฐิต (ครูเนรัญชรา) และประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงแม่พิมพ์ของชาติ นายสุเทพ โชคสกุล ๖.รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทยแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล รางวัลชนะเลิศได้แก่ เพลงกอดแม่วงก์ นางจิระนันท์ พิตรปรีชา รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงค่าของคน นายยืนยง โอภากุล และเพลงคนแรกที่รัก นายณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ (หมู มูซู) และประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงสัญญานักสู้ นายสัญญารักษ์ ดอนศรีฐิติโชติ (สัญญารักษ์ ดอนศรี) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงครูคือผู้ให้ นายพจน์ คีรีวรรณ และเพลงนายฮ้อยแรงงาน นายวสุ ห้าวหาญ ๗.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย รางวัลชนะเลิศได้แก่ เพลงเรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย นายปองศักดิ์ รัตนพงษ์ (ออฟ ปองศักดิ์) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงรักแท้อยู่เหนือกาลเวลา นายจารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม (โดม จารุวัฒน์) และเพลงค่าของคน นายยืนยัน โอภากุล ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงเหนื่อยก็พัก ไม่รักก็พอนางสาวหนึ่งธิดา โสภณ (หนูนา) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงเมื่อไหร่ฟ้าจะมองที่ฉัน นางสาวณัทฐ์ฐิตา พิบูลภานุวัธน (พรีน) และเพลงไม่เคยอยู่ในสายตา นางสาววรกาญจน์ โรจนวัชร (พันซ์ วรกาญจน์) ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงรักจงรอ นายสุธิราช อุสุภะ (กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ อาร์สยาม) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงสัญญาณรัก สัญญาณใจ นายสร่างศัลย์ เรืองศรี (หนู มิเตอร์ อาร์สยาม)และเพลงฝืนใจหน่อยได้ไหม นายประยูร ศรีจันทร์ (ไผ่ พงศธร) และประเภทขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงนาทีเดียวเพื่อรัก ทั้งชีวิตเพื่อลืม นางสาวชลดา ทองจุลกลาง (ตั๊กแตน ชลดา) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงถ้าฉันจะลองเป็นของคนอื่น นางสาววลีรัตน์ สีนวลจันทร์ (ครีม อาร์สยาม) และเพลงครูสู่เศรษฐกิจพอเพียง เด็กหญิงรัตนาภรณ์ ก้อนทอง
ทั้งนี้ จะมีการจัดกิจกรรมและโครงการด้านภาษาไทย ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการ พิธีมอบรางวัลและโล่เชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย และการมอบรางวัลโครงการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติไทย ในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับรายละเอียดสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงวัฒนธรรม โทร.๐ ๒๔๒๒ ๘๘๕๑-๘ หรือ สายด่วนวัฒนธรรม โทร. ๑๗๖๕