กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สพฉ.
“เกาะล้าน” ตั้งอยู่ในเขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นเกาะในทะเลอ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพมหานครมากนักนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมไปเที่ยวที่เกาะแห่งนี้เพราะมีชายหาดหลายแห่งบนเกาะให้ได้เลือกเที่ยว อาทิ หาดตาแหวน หาดเทียน หาดแสม ทังนี้บนเกาะล้านยังมีกิจกรรมทางน้ำอีกหลากหลายรูปแบบให้นักท่องเที่ยวได้เล่นจึงทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนกันไปท่องเที่ยวที่เมืองพัทยาและมาชมความงามของเกาะแห่งนี้เป็นจำนวนมากสถิติอย่างเป็นทางการของจำนวนนักท่องเที่ยวทีเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองพัทยาเมื่อปี พ.ศ. 2555ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวน 8.2 ล้านคนที่เข้ามาเที่ยวยังพัทยา ในจำนวนนี้เป็นชาวไทย 2.3 ล้านคน และชาวต่างชาติ 5.8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนมากกว่าครึ่งได้เดินทางไปท่องเที่ยวยังเกาะล้าน
การเดินทางไปยังเกาะล้านที่ห่างจากฝั่งของเมืองพัทยาประมาณ 7 กม.สามารถเดินทางได้สองรูปแบบ คือการเดินทางโดยเรือข้ามฝากที่จะใช้เวลาถึงเกาะในเวลา 45 นาที และการเดินทางโดยเรือสปีดโบ๊ทที่ใช้เวลาในการเดินทาง15 นาที ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักนิยมใช้การเดินทางด้วยเรือข้ามฟาก อย่างไรก็ตามได้มีการตั้งขอสงสัยของมาตรการในการรักษาความปลอดภัยของเรือข้ามฟากไปยังเกาะล้านภายหลังจากที่เคยเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่เมื่อปีพ.ศ. 2556 ที่ผ่านมาจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้นหลายคน ว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ใหญ่ในครั้งนั้นผู้ประกอบการเรือข้ามฟากได้มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารที่จะข้ามไปท่องเที่ยวยังเกาะล้านดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง
นายสินชัย วัฒนศาสตร์สาธร นายกสมาคมนักธุรกิจการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ได้ลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจมาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวยังเกาะล้านพบว่า “การบังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการให้ผู้โดยสารเมื่อขึ้นเรือต้องสวมชูชีพนั้น ยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มจากท่าเรือคือ ผู้ปฏิบัติงานในเรือข้ามฟากนั้นยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้โดยสารทราบ ถึงแม้จะมีป้ายประชาสัมพันธ์แต่คนก็ไม่ค่อยอ่านจึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารเรือข้ามฟากได้ทราบอย่างทั่วถึง นอกจากนี้แล้วสิ่งที่เป็นปัญหาหลังจากการลงพื้นที่ก็ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ประจำเรือเรือไม่ยอมแจกจ่ายเสื้อชูชีพให้กับผู้โดยสาร ซึ่งผู้โดยสารจะ ต้องไปหยิบเอง ซึ่งในบางครั้งเมื่อผู้โดยสารหาเสื้อชูชีพไม่เจอก็ไม่ได้ใส่และจะทำให้เกิดความเสี่ยงหากเรือประสบอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามยังพบปัญหาที่ผู้โดยสารเองไม่ยอมสวมใส่เสื้อชูชีพโดยใช้ข้ออ้างว่าว่ายน้ำเป็น หรือบางคนก็บอกว่าเสื้อชูชีพมีสภาพเก่าสกปรกจึงทำให้ไม่กล้าใส่ ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เราพบเจอนี้สมาคมนักธุรกิจฯ เมืองพัทยาจะนำเรื่องเข้าหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทำการแก้ไขต่อไป”
ด้านนายธีรยุทธ มังกรสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุหน่วยกู้ภัยสว่างบริบูรณ์ฯ และเครือข่ายนักสื่อสารกู้ชีพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ) ) ให้ข้อมูลว่า“จากอุบัติเหตุครั้งล่าสุดที่เรือโดยสารเกาะล้านบริษัทแห่งหนึ่งล่มจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้น ทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความปลอดภัยการโดยสารทางเรือ และอุปกรณ์ที่จะช่วยเราได้ดีที่สุดคือเสื้อชูชีพ แต่ปัญหาที่เราพบนอกจากการขาดการประชาสัมพันธ์ในการใช้เสื้อชูชีพสำหรับผู้โดยสายแล้ว เรายังพบปัญหาขนาดของเสื้อชูชีพยังไม่ได้มาตรฐานอีกด้วยโดยเสื้อชูชีพที่เหมาะสมกับชาวต่างชาติที่ตัวค่อนข้างสูงใหญ่นั้นยังน้อย จึงทำให้ผู้โดยสารชาวต่างชาติสวมใส่เสื้อชูชีพได้อย่างยากลำบาก ทั้งนี้อุบัติเหตุทางน้ำในพื้นที่เมืองพัทยา เกิดขึ้นเป็นประจำจากความประมาท เพราะถึงแม้เมืองพัทยาได้มีการแบ่งโซนว่ายน้ำ โซนเล่นเรือมีโดยมีทุ่นกั้นให้เห็นเด่นชัดแล้ว แต่ผู้ประกอบการหรือนักท่องเที่ยวเองก็ยังไม่ปฎิบัติตามกฎเท่าที่ควร สิ่งที่มูลนิธิสว่างบริบูรณ์ฯ แขวงเกาะล้านเมืองพัทยาทำได้ตอนนี้ก็คือเราได้จัดให้มีเรือเตรียมพร้อมคอยรับส่งผู้บาดเจ็บหรือป่วยในกรณีฉุกเฉินมายังฝั่งท่าเรือแหลมบาลีฮาย และยังสามารถติดต่อเครือข่ายโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ)ให้มาทำการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งหากประชาชนท่านใดพบเห็นการเกิดอุบัติเหตุหรือหากท่านประสบเหตุทางน้ำ หรือ เจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้รีบ โทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ต่อไปพวกเราพร้อมเต็มที่ในการเข้าให้การช่วยเหลือ”เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุหน่วยกู้ภัยสว่างบริบูรณ์ฯ และเครือข่ายนักสื่อสารกู้ชีพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ) )กล่าว
อย่างไรก็ตามมาตรฐานเรือข้ามฝาก ระหว่างเกาะ ของกรมเจ้าท่า มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เรือข้ามฟาก ไม่ควรบรรทุกเกินน้ำหนัก ต้องใช้ความเร็วเรือในการเดินเรือในเขตควบคุมความเร็ว โดยบริเวณท่าเทียบเรือโดยสารต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 5น็อต หรือ 8 ไมล์ต่อชั่วโมง ในระยะห่างจากฝั่ง 1,000 เมตร พร้อมทั้งให้ติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดและ งดใช้เรือโดยเด็ดขาด เมื่อมีการประกาศคำเตือนคลื่นลมแรง อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการ เจ้าของเรือต้องมีแพชูชีพ และเสื้อชูชีพต้องเพียงพอกับผู้โดยสาร และหากผู้ประกอบการ เจ้าของเรือ และคนประจำเรือ ฝ่าฝืนประชาชนหรือผู้พบเห็นเหตุสามารถแจ้งกับกรมเจ้าท่าให้เอาผิดกับเรือเหล่านี้เพื่อให้ถูกดำเนินการตามกฎหมายที่กำหนดไว้ และเพื่อให้ปรับปรุงควาปลอดภัยของเรือให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารคนอื่นๆ ต่อไป
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669