กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน
ศิลปะ เป็นความงาม คุณค่าของความงามคือการสร้างสรรค์ เป็นสุทรียภาพ หรือการสร้างอารมณ์ต่างๆ โดยศิลปะจะรวมไปถึงงานในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานเขียน บทกวี การเต้นรำ การแสดง ดนตรี งานปฏิมากรรม ภาพวาด-ภาพเขียน ที่นับเป็นศาสตร์ที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้น
วัฒนธรรม เป็นรูปแบบของกิจกรรมมีความเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม สามารถแสดงออกทาง ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การละครและภาพยนตร์ บางครั้งอาจว่าด้วยการบริโภค ความสัมพันธ์ทางสังคม แนวทางการปฏิบัติ การหลอมรวมอยู่ด้วยกัน
เมื่อทั้งศิลปะ และ วัฒนธรรม เป็นงานที่มีคุณค่าของความงามที่มีความสำคัญต่อจิตใจคน การทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานศิลปวัฒนธรรมให้เดินหน้าไปสู่ทิศทางที่เข้มแข็งขึ้นคนทำงานศิลปะได้มีบทบาทมากขึ้น มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการทำงานศิลปะภาคประชาชนให้มีบทบาทและมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในฐานะ ประธานมูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน บอกว่า ศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน ต้องการให้คนเห็นความสำคัญของภาคประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้นงานศิลปวัฒนธรรมโดยส่วนใหญ่แล้วจะถูกกำหนดด้วยภาคราชการกับภาคเอกชนเป็นหลักเพื่อความเป็นอยู่อย่างมั่นคงของงานด้านนี้ แต่สิ่งที่มันขาดไปก็คือ ภาคประชาชน เพราะว่าที่จริงแล้ว ศิลปวัฒนธรรมนั้นมันไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะ แต่เป็นเรื่องที่กระทบทุกภาคส่วน ดังกวีที่ว่า
ศิลปวัฒนธรรมประชาชน
ผลิตผลสังคมทุกภาคส่วน
เป็นพื้นฐานกำหนดบทกระบวน
ความควรความไม่ควร ที่ควรเป็น
ต่างชาติรับใช้ชาติเรา เท่าที่เห็น
อดีตรับใช้ปัจจุบัน เน้น
ใช่อดีตครอบเข่น ปัจจุบัน
ศิลปวัฒนธรรมประชาชน
เป็นทั้งเหตุและผลบันดลผัน
ร่วมสร้างอารยธรรมอันสำคัญ
และสร้างสรรค์ความเป็นตัวของตัวเอง
ร่วมสร้างไทยเป็นไทให้พร้อมสรรพ
ร่วมขยับก้าวมั่นไม่ก้าวเขย่ง
ร่วมด้วยใจไม่ประมาทไม่ขลาดเกรง
ร่วมบรรเลงเพลงชัยประชาชน
“โดยในบทที่ว่า ต้องเอาต่างชาติมารับใช้ชาติเรา ต้องเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากหากยังปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ โลกไฮเทคขึ้นกลายเป็นว่า เรากำลังเอาต่างชาติมาครอบชาติเรา เราก็เอาอดีตมาครอบปัจจุบัน ถ้าปรับเปลี่ยนตรงนี้ให้เข้าใจตรงกัน เพื่อเราจะได้เอาต่างชาติมารับใช้ชาติเรา เอาอดีตมารับใช้ปัจจุบันแทน มูลนิธิเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน จึงต้องการเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชนมากขึ้น ต้องการให้คนเข้าใจตรงกัน มีจิตสำนึกเห็นความสำคัญงานศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนมากขึ้น ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งหรือให้ใครมากำหนด การเป็นเจ้าของศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน ราชการต้องมีส่วนร่วมช่วยอย่างเสมอภาค การเพิ่มพลังให้กับประชาชน พยายามทำความเข้าใจว่าตอนนี้พลังของศิลปิน เลี้ยงศิลปะ ...พลังของศิลปะ เข้าไปสู่สำนึก จิตใจ จิตสำนึก จิตวิญญาณของผู้เสพมากขึ้น
ทุกวันนี้ความรู้สึกนึกคิดของเราถูกกำหนดด้วยสิ่งแวดล้อมที่คอยกำหนดให้เราเป็นอย่างนี้ ให้เราเป็นอย่างนั้น สิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ถูกกำหนดโดยอีกภาคส่วนที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงมันได้ เช่นเศรษฐกิจ การเมือง หรือค่านิยมของสื่อต่างๆ เหมือนเด็กสมัยนี้ที่ไม่ได้หิวข้าว แต่หิวแฮมเบอร์เกอร์ไปแล้ว คือหมายความว่ามันถูกกำหนดโดยภาคส่วน คนที่ไม่รู้ตัวก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่เคยกลับมาฉุกคิดว่า จริงๆ แล้วเราเป็นตัวของเรา เรากำหนดของเราเองได้...
งานศิลปวัฒนธรรม จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะปลุกจิตสำนึกในส่วนนี้ได้ เพียงแต่ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า “ศิลปวัฒนธรรมมันไม่ใช่เรื่องแค่ถ้อยคำ เรื่องสวยๆ งามๆ เท่านั้น แต่มันหมายถึงจิตวิญญาณของคน เป็นวิถีชีวิต ศิลปะเป็นความจัดเจนในการทำงาน วิถีชีวิตก็คือการทำงาน ความจัดเจนในการทำงานมันก็เป็นศิลปะ ศิลปวัฒนธรรมมันอยู่ในตัวของเรา แต่เรามองไม่เห็นมัน ทำอย่างไรให้คนได้เข้าใจอย่างนี้ร่วมกันให้มากๆ มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน ที่เกิดขึ้นมาในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อใช้พลังศิลปิน พลังภาคประชาชนมาช่วยกันสร้างศิลปวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับสังคมของเรา เหมาะสมกับตัวของเรา ซึ่งการทำงานที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้จะเป็นตัวบ่งบอก ตัวบ่งชี้ได้... โดยจะเริ่มต้นแบบไหนอย่างไรเร็วๆ นี้ จะได้เห็นกันแน่นอนทั่วประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้มีเครือข่ายศิลปินเกิดขึ้นแล้วใน 5 จังหวัด อาทิ ราชบุรี, สุรินทร์, หนองบัวลำภู, แม่ฮ่องสอน และสงขลา” นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เล่า
วันนี้งานศิลปวัฒนธรรมเริ่มขยับและขับเคลื่อนแล้ว แต่พลังเยาวชนอย่างเราๆ เริ่มขยับกันหรือยัง อย่ามัวปิดหูปิดตามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังเยาวชนร่วมกัน วันพรุ่งจะได้มาร่วมร้อยเพลงชัยไปพร้อมๆ กัน... สร้างไทยให้เป็นไทด้วยหนึ่งใจและสองมือเรา...
เราในฐานะคนไทยไม่ช่วยกันแล้วใครจะมาร่วยเรา....