กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--Workazine
อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและอดีตประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา แนะ 5 ปัจจัยการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ชี้ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของทิศทางนโยบายด้านพลังงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล การสนับสนุนของทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และความเข้าใจและการยอมรับของทุกภาคส่วน
จากกระแส “ปฏิรูปพลังงาน” ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างราคาพลังงานเชื้อเพลิง และระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจของสังคมอยู่นั้น ต่อกรณีนี้ นายวิบูลย์ คูหิรัญ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และอดีตประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา มีความเห็นว่าการปฏิรูปด้านพลังงานไฟฟ้านั้นต้องอาศัยแนวคิดในการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สืบเนื่องมาจากประเทศไทยมีการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นโดยต่อเนื่อง อัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ต่อปี ทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศต้องดำเนินการวางแผนจัดหาและผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าโดยต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมานับว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องดังกล่าวสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี สามารถผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นและมีช่องทางที่สามารถปรับปรุงการบริหารจัดการระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นอีก
ทั้งนี้การบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพนั้นสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินการแนวทางการพยากรณ์และการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า การส่งไฟฟ้า การจำหน่ายไฟฟ้ารวมทั้งการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ และหามาตรการและแนวทางในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อันอาจเกิดมีขึ้นในอนาคต โดยมุ่งไปสู่ดุลยภาพของการจัดหาและการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ในการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ประการแรก ศักยภาพของแหล่งพลังงานทั้งพลังงานหลักและพลังงานเสริม ประการที่สอง การเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ประการที่สาม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ประการที่สี่ การกระจายความเสี่ยงด้านสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ที่เหมาะสม และประการที่ห้า ปัจจัยด้านต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ปัจจัยความสำเร็จของโครงการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศขึ้นอยู่กับความชัดเจนของทิศทางและนโยบายด้านพลังงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล การสนับสนุนของทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ความเข้าใจและการยอมรับของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน และกระบวนการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจทางเลือกที่เหมาะสมของประเทศไทย
ทั้งนี้ในรายงาน “การพิจารณาศึกษาและติดตามแผนการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศไทย” โดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา เมื่อปี 2557 ที่มีนายวิบูลย์เป็นประธานคณะกรรมาธิการนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การพยากรณ์และการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันประเทศไทยใช้แบบ End Used Model อยู่นั้นยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ดังนั้นจึงควรเน้นการใช้แบบจำลองรูปแบบอื่น เช่น วิธีการทางเศรษฐศาสตร์ (Econometric) วิธีการเทียบเคียงกับสถิติการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ประกอบกัน ส่วนในประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ นั้น ในรายงานระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาการกระจุกตัวของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางและในบริเวณใกล้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งมีการพึ่งพาเชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติมากจนเกินไป ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น ดังนั้นควรกระจายไปสู่ทางเลือกอื่นได้แก่ ถ่านหินสะอาด หรือนิวเคลียร์ให้มากขึ้นด้วย ส่วนประเด็นในเรื่องสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ไม่ควรก่อสร้างโรงไฟฟ้าในลักษณะเป็นกลุ่มบริเวณพื้นที่เดียวกัน เนื่องจากจะมีความเสี่ยงสูงหากโรงไฟฟ้าหรือสายส่งที่ต่อเนื่องกัน มีปัญหาขัดข้อง หรือมีอุบัติภัยในบริเวณเดียวกัน เป็นต้น
อนึ่งนายวิบูลย์ คูหิรัญ จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (ไฟฟ้า) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาระดับ Master of Science (Electrical Engineering) จาก Illinois Institute of Technology สหรัฐอเมริกา ผ่านหลักสูตรหลักประจำ รุ่นที่ ชุดที่ 34 จาก (วิทยาลัยการทัพบก) หลักสูตรปริญญาบัตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ รุ่นที่ 37 จาก วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตร ประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ (ปปร.) รุ่นที่ 5 จาก (สถาบันพระปกเกล้า) หลักสูตรวิศวกรนานาชาติโดย บริษัท Westing house : U.S.A. และหลักสูตรการบริหารโครงการจาก Economic Development Institute (EDI) ของธนาคารโลก รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการเร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าชนบท และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เคยได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากภาคเอกชน เมื่อปี พ.ศ.2554 ปัจจุบันนายวิบูลย์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษามูลนิธิโครงการหลวงและประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี และยังคงติดตามความเคลื่อนไหวในประเด็นพลังงานอย่างใกล้ชิด.