กิตติรัตน์ ณ ระนอง นักการเงินแห่งปี 2548

ข่าวทั่วไป Tuesday December 13, 2005 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2548 ที่กำลังวางแผงในขณะนี้ ประกาศผลการตัดสิน รางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” ประจำปี 2548 (Financier of the Year 2005) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้บริหารในตลาดเงิน ตลาดทุนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและโดดเด่น มาตั้งแต่ปี 2525 ปรากฏว่า ในปีนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ครองตำแหน่ง “นักการเงินแห่งปี 2548” ซึ่งเป็นนักการเงินแห่งปีคนที่ 17 ของวารสารการเงินธนาคาร ด้วยคุณสมบัติที่ครบถ้วนตามเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการทั้ง 4 ด้าน คือ
1. เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ด้วยการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดที่สมบูรณ์และครบวงจร ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai), ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET), ตลาดตราสารหนี้ (BEX) และตลาดอนุพันธ์ (TFEX)
2. เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ โดยเฉพาะเป็นผู้ผลักดันให้มีแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนเกิดขึ้น และสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยมุ่งสู่การเป็นตลาดทุนที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governanc)
3. เป็นนักการเงินที่สามารถสร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร และเป็นผู้ที่ปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน
4. เป็นนักการเงินที่ทุ่มเททำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การริเริ่มและสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่จะเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการออมและการลงทุนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ตั้งแต่เด็กและเยาวชน อันนำไปสู่วินัยทางการเงินและวัฒนธรรมการลงทุน ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาคุณภาพของประชากรของประเทศ และเป็นการขยายฐานผู้ลงทุนที่มีคุณภาพในตลาดทุน รวมไปถึงการกำหนดเป็นนโยบายให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและบริษัทในเครือได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ความเป็นนักการเงินของกิตติรัตน์ ชนะใจคณะกรรมการจนเทคะแนนให้อย่างท่วมท้นคือ การทุ่มเทเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวม รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการวางรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประชากรที่มีคุณภาพของประเทศในระยะยาว
บทบาทของกิตติรัตน์ต่อการพัฒนาตลาดทุน เริ่มต้นขึ้นด้วยการผลักดันให้มีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนฉบับแรก เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถเกื้อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รองรับการเติบโตในอนาคต เป็นตลาดทุนที่มีการลงทุนครบถ้วน ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่รองรับการจดทะเบียนของบริษัทขนาดใหญ่, ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่รองรับการจดทะเบียนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย อีกด้วย
ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน กิตติรัตน์ได้เข้ามาจัดระบบค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยการกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีแนวทางในการกำหนดต้นทุนในการให้บริการ ซึ่งจะเป็นผลให้สามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ แทนการแข่งขันกันด้านราคา และยังจัดระบบการซื้อขายออนไลน์ หรือ Internet Trading, การพัฒนาระบบการจองหุ้นออนไลน์, การเตรียมการเพื่อลดเวลาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์เป็น T+2 รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เช่น STE100, SET50 เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนมากขึ้น
กิตติรัตน์ยังได้ผลักดันให้จัดตั้งสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาตลาดทุน ที่จะเชื่อมโยงกับกลไกอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ให้เป็นศูนย์กลางส่งเสริมความรู้และประสบการณ์ของผู้บริหารในแวดวงตลาดทุน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนไทยในอนาคต
ในด้านของการขยายฐานผู้ลงทุนใหม่ที่มีคุณภาพ กิตติรัตน์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร จัดงานมหกรรมการลงทุนครบวงจร หรือ SET in the City ต่อเนื่องมาถึง 4 ปี รวมทั้งร่วมมือกับสมาคมนักวิเคราะห์ จัดงานตลาดหลักทรัพย์ฯ สัญจร เพื่อขยายฐานผู้ลงทุนในต่างจังหวัด
นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มที่จะนำบริษัทจดทะเบียนไปนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนในต่างประเทศหรือ International Roadshow ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้จัดการกองทุนยักษ์ใหญ่อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกัน ได้ริเริ่มนำนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศเข้ามารับฟังข้อมูลประเทศไทย โดยการจัด Thailand Focus ที่ได้รับความสนใจอย่างมากเช่นเดียวกัน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีช่องทางในการนำเสนอข้อมูลของบริษัทให้แก่ผู้ลงทุนและนักวิเคราะห์โดยตรง เช่น การจัดสัมมนาบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุนสถาบัน (Opportunity Day) การสนับสนุนกิจกรรมนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relation : IR) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การริเริ่มโครงการ Top Executive Networking Forum ที่นำผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนไปใช้ชีวิตและสัมมนาร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมี Connection ระหว่างกัน
พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาระบบบรรษัทภิบาลที่ดี โดยนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและเป็นมาตรฐานสากล และการให้ความสำคัญกับบทบาทและหน้าที่ของกรรมการ ซึ่งกำหนดเป็นข้อบังคับว่า ผู้ที่เป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนจะต้องผ่านหลักสูตร Directors Accredited Program (DAP) ของ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งเป็นหลักสูตรขั้นต่ำของกรรมการบริษัทจดทะเบียน
กิตติรัตน์ได้มองเห็นความสำคัญในเรื่องของคุณภาพและความโปร่งใสในการบริหารงานขององค์กรในตลาดทุนไทย จึงได้ร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร จัดงานมอบรางวัล SET Awards เพื่อยกย่องบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่มีความยอดเยี่ยมทั้งในด้านผลการดำเนินงาน การบริหารจัดการและการให้บริหารจัดการ การให้บริการด้านต่างๆ รวมไปถึงผู้บริหารดีเด่นของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว
กิตติรัตน์ยังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมและการลงทุน ให้กับกลุ่มต่างๆ อาทิ 1. กลุ่มเยาวชนระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมปลายด้วยการเน้นการอบรมครูและเผยแพร่คู่มือการเรียนการสอนชุด “เงินทองของมีค่า” ไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่งประเทศ 2. กลุ่มนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เน้นความร่วมมือกับภายใต้โครงการ University Networking เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงการจัดตั้งมุมความรู้ตลาดทุน (SET Corner) โดยจัดให้มีหนังสือและเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการข้อมูลด้านการเงินและการลงทุนโดยไม่คิดค่าบริการ
นอกจากการเสริมสร้างความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนแล้ว ยังได้ทุ่มเทกับการดูแลและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในสังคมและชุมชน ผ่านกิจกรรมต่างๆ สนับสนุนโดยกองทุนตลาดหลักทรัพย์ฯ 30 ปี เพื่อสังคม รวม 100 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสร้างสนามกีฬาใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส, โครงการสร้างสนามแบดมินตัน มหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานห้องสมุดดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รวมทั้งโครงการพัฒนาสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นสนามกีฬานำร่องที่จะมีการบริหารจัดการที่ทันสมัย สามารถหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง และใช้แนวคิดพัฒนาสนามแบบต่อยอด โดยนำหญ้าสังเคราะห์มาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อขยายเวลาการใช้งานของสนามให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนปรับปรุงสนามให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งาน พร้อมทั้งจัดสร้างห้องสมุดกีฬา และปรับปรุงศูนย์ Fitness
งานช่วยเหลือสังคมอีกด้านหนึ่งคือ การสนับสนุนงบประมาณการเดินทางให้กับโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี เพื่อไปแข่งขันดนตรีโลกที่เนเธอร์แลนด์ และสนับสนุนวง Dr.Sax Chamber Orchestra วงดนตรีเยาวชนในโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเข้าแข่งขัน International Youth Chamber Music Competition (IYCC) 2005 ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยทั้งสองสถาบันก็สามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันมาได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ