(ต่อ) SEC9: ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ฉบับที่.. (พ.ศ....)

ข่าวทั่วไป Tuesday September 14, 1999 09:40 —ThaiPR.net

1. เป็นการเสนอขายหุ้นกู้แก่บุคคลในวงจำกัด
2. ผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่าบุคคลที่ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประสงค์จะให้ความคุ้มครอง ซึ่งคือผู้ที่จะเป็นผู้ถือหุ้นกู้ ไม่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองดังกล่าว และ
3. การผ่อนผันดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นกู้รายอื่นที่อาจเข้ามาซื้อหุ้นกู้นี้ในภายหลัง ทั้งนี้ โดยให้สำนักงานสามารถกำหนดเงื่อนไขในการผ่อนผันนั้นได้ด้วย
การผ่อนผันเป็นการทั่วไปให้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ซ้ำภายใน 1 ปีได้ตามที่ข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนที่ประสงค์จะเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ต้องได้รับมติเห็นชอบการเพิกถอนหลักทรัพย์จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หลังจากนั้นบริษัทจดทะเบียนต้องดำเนินการให้มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ/หรือ ผู้บริหาร และ/หรือ บุคคลอื่นเสนอรับซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทจากผู้ถือหุ้นทั่วไป ประกอบกับมาตรา 255 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กำหนดห้ามมิให้บุคคลที่เคยทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทมหาชน ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทมหาชนนั้นอีกภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ครั้งก่อน เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. นั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 11/2542 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 พิจารณาเห็นว่า เพื่อลดระยะเวลาดำเนินการเพิกถอนหลักทรัพย์จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีมติผ่อนผันเป็นการทั่วไปให้ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการเพิกถอนหลักทรัพย์จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน สามารถทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวซ้ำภายใน 1 ปี นับแต่การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ครั้งก่อนได้ ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้ทำคำเสนอซื้อนั้นได้ระบุถึงแผนการเพิกถอนหลักทรัพย์ไว้ในคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ครั้งก่อนแล้ว
สรุปหลักการของร่างประกาศเกี่ยวกับการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่
1. การเสนอขายหุ้นในวงจำกัด (Private Placement : PP)
การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นในลักษณะนี้ ยังเป็นไปตามหลักการเดิม คืออนุญาตเป็นการทั่วไปแต่ได้ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ลงทุนที่เข้าข่ายเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันเล็กน้อย ดังนี้
(1) แก้ไขจาก "ผู้ลงทุนที่เป็นนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์รวมตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป" เป็น "นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป" เนื่องจากขนาดของเงินลงทุนในหลักทรัพย์แสดงถึงประสบการณ์ ในการเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันได้ดีกว่าขนาดของสินทรัพย์
(2) แก้ไขจาก "ผู้ลงทุนซึ่งไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย และนำเงินลงทุนมาจากต่างประเทศ โดยมีผู้ดูแลหรือจัดการลงทุนให้" เป็น "ผู้ลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนประเภทสถาบันของไทย" เพื่อให้เข้าใจง่ายและมีความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมเงื่อนไขการอนุญาต เพื่อมิให้มีผู้ใช้ช่องทางนี้ในการหลีกเลี่ยงการขออนุญาตแบบ PO โดยได้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องการโฆษณาว่า ต้องมีการระบุลักษณะและข้อจำกัดของการเสนอขายอย่างชัดเจน และกำหนดว่าผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ร่วมรับรองความถูกต้องของข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหลักทรัพย์นำหุ้นนั้นไปเสนอขายต่อประชาชน หรือนำหุ้นนั้นไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 2 ปีแรกเว้นแต่บริษัทนั้นจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นแบบ PO แล้ว
2. การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน (Public offering : PO) มีหลักการของการแก้ไขที่สำคัญคือ ยกเลิกหลักเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องที่ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้จากข้อมูลที่เปิดเผยอยู่แล้ว เพื่อมุ่งไปสู่ disclosure-based ตามแนวทางที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้ไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มหลักเกณฑ์การพิจารณาในเรื่อง corporate governance ของผู้ขออนุญาต เนื่องจากพบว่า ปัญหาที่ผ่านมาของบริษัทจดทะเบียนส่วนมากเกิดจากการขาด good corporate governance โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
(1) ยกเลิกหลักเกณฑ์การพิจารณา เรื่อง วัตถุประสงค์การใช้เงิน และฐานะการเงินและผลการดำเนินงานเนื่องจากมีข้อมูลเปิดเผยอยู่เพียงพอแล้ว แต่ยังคงหลักเกณฑ์เรื่องประเภทธุรกิจซึ่งต้องเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไว้เพื่อป้องกันการระดมเงินของธุรกิจบางประเภทที่ทางการไม่มีนโยบายจะสนับสนุน เช่น สถานเริงรมย์บางประเภท เป็นต้น
(2) เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์มี good corporate governance โดยได้กำหนดลักษณะของผู้ขออนุญาตไว้ในเรื่องดังนี้
(ก) มีงบการเงินเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและผ่านการตรวจสอบมาอย่างดี ทั้งนี้ในการพิจารณาคำขออนุญาตของผู้ขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) สำนักงานจะพิจารณากระดาษทำการของผู้สอบบัญชีด้วย
(ข) มีโครงสร้างทางการเงิน การถือหุ้น และการบริหารงาน ที่ชัดเจน และสามารถป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ตามหลักเกณฑ์เดิมแต่เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การมีข้อบังคับบริษัท และหลักเกณฑ์การดำเนินงานภายในบริษัทเพื่อให้
- มีการมอบอำนาจระหว่างคณะกรรมการกับฝ่ายจัดการอย่างชัดเจน
- มีข้อกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติ ในเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกัน และการซื้อขายสินทรัพย์สำคัญสอดคล้องกับ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเรื่องดังกล่าว
(ค) มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดเก็บเอกสารสำคัญที่ดีมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และรายงานผลต่อคณะกรรมการผ่านกรรมการอิสระหรือคณะกรรมการตรวจสอบ (ถ้ามี) ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าสินทรัพย์ของบริษัทจะได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอ และงบการเงินของบริษัทน่าเชื่อถือ
(ง) มีผู้บริหารที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด โดยได้ปรับปรุงลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์เดิมให้สอดคล้องกับกรณีผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ แต่ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะต้องห้ามบางประการ ให้เหมาะสมกับการเป็นผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น เช่น ผู้บริหารต้องไม่มีประวัติการขาด fiduciary duties ในการจัดการบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น
(จ) การประกอบธุรกิจไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมมาจากหลักเกณฑ์เดิม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขออนุญาตมีความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องนี้
(3) เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาบริษัท holding เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัท holding มีอำนาจควบคุมบริษัทย่อย และบริษัทย่อยมีลักษณะเป็นไปตามเกณฑ์การอนุญาต
(4) แก้ไขข้อกำหนดสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน (subsequent PO : SPO) จากการอนุญาตเป็นการทั่วไป เป็นต้องยื่นคำขออนุญาตและเป็นไปตามเกณฑ์ในเรื่อง good corporate governance เฉพาะ (2) (ข) - (ง)เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเร่งปรับปรุงระบบการกำกับดูแลกิจการ มิให้มีการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับ SPO จะเป็นหลักเกณฑ์ที่บริษัทจดทะเบียนสามารถแก้ไขปรับปรุงตนเองได้ มิใช่หลักเกณฑ์ที่มีผลทำให้บริษัทจดทะเบียนไม่สามารถเพิ่มทุนได้
อนึ่ง โดยที่ตลาดหลักทรัพย์ได้มีข้อกำหนดเพื่อยกระดับ corporate governance ของบริษัทจดทะเบียนว่า บริษัทจดทะเบียนต้องมี audit committee ตั้งแต่ต้นปี 2543 เป็นต้นไป ดังนั้นหลักเกณฑ์สำหรับ SPO ในเรื่องการควบคุมภายในข้อบังคับบริษัท และการมอบหมายงานภายใน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้าง good corporate governance เช่นเดียวกันและเป็นหลักการใหม่ จึงควรเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ต้นปี 2543 ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกันและให้บริษัทจดทะเบียนมีระยะเวลาในการปรับตัว
(5) เพิ่มเติมเงื่อนไขในการอนุญาตเพื่อ ให้สำนักงานเพิกถอนการอนุญาตก่อนการเสนอขายหลักทรัพย์ได้หากเห็นว่าบริษัทขาดคุณสมบัติ ให้บริษัทปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ให้ไว้แก่ผู้ลงทุนในหนังสือชี้ชวน ไม่ให้บริษัทเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในเรื่องที่กระทบสิทธิของผู้ถือหุ้นก่อนจดทะเบียนเพิ่มทุน และในกรณีผู้ได้รับอนุญาตยังไม่มีรายได้ในเชิงพาณิชย์ ครบ 1 ปี ห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ขายหุ้น (silent period)
(6) ยกเลิกเกณฑ์การอนุญาตให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทมหาชนเสนอขายหุ้นแบบ PO เนื่องจากการดำเนินการก่อนจัดตั้งบริษัทค่อนข้างยุ่งยาก ไม่ชัดเจน และการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตตามเกณฑ์ข้างต้นทำได้ยาก จึงควรจำกัดให้การเสนอขายหุ้นของผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทมหาชนอยู่ในรูป PP เท่านั้น และเมื่อจัดตั้งบริษัทเสร็จแล้ว จึงค่อยมาขออนุญาตทำ IPO ในภายหลังได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไม่มีผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทมหาชนรายใดเคยขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์แบบ PO-- จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ