กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ร่วมกับกลุ่มคนในวิชาชีพธุรกิจจัดดอกไม้ อาทิ เจ้าของธุรกิจร้านจัดดอกไม้ ช่างจัดดอกไม้ในโรงแรม ช่างจัดดอกไม้มืออาชีพ ตลอดจนนักวิชาการ คณาจารย์ที่สอนด้านการจัดดอกไม้ จากหลากหลายสถาบัน ภายใต้การสนับสนุนของ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำโครงการพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจช่างจัดดอกไม้ ขึ้น โดยได้เริ่มต้นดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 จนสิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2557 รวมระยะเวลาการทำงาน 10 เดือน
เป็นโครงการที่เข้ามาช่วยยกระดับอาชีพนี้ ให้มีความเป็นสากล สามารถพัฒนาผู้ประกอบอาชีพให้มีคุณวุฒิตามความรู้ความสามารถ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพแสวงหาความรู้ พัฒนาทักษะได้ตามคุณวุฒิที่สูงขึ้น และสนับสนุนให้ผู้ประกอบอาชีพมีการพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบ
ภายใต้โครงการวิจัยการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพกลุ่มอาชีพธุรกิจจัดดอกไม้ ได้ให้คำจำกัดความของกลุ่มอาชีพธุรกิจจัดดอกไม้ เป็นการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ ธุรกิจร้านดอกไม้ ธุรกิจการบริการจัดดอกไม้โอกาสพิเศษในและนอกสถานที่ ธุรกิจการจำหน่ายไม้ตัดดอก ไม้ตัดใบ ต้นไม้และไม้กระถางต่างๆ ธุรกิจการจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือการจัดดอกไม้
การจัดทำมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพการจัดดอกไม้ (Floristry) ดังกล่าวได้จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีขั้นตอนการจัดทำดังนี้
1. จัดทำแผนภาพหน้าที่งาน (Functional Map) 2. จัดทำหน่วยสมรรถนะ (Unit of Competence)
3. จัดระดับคุณวุฒิวิชาชีพ (National Qualification of Vocational Competence Level) 4. จัดทำกระบวนการประเมินสมรรถนะวิชาชีพเพื่อการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Competency – Based Assessment)
ผลการดำเนินงาน
1. จัดทำแผนภาพหน้าที่งาน ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพครั้งนี้ ใช้วิธีการวิเคราะห์หน้าที่งาน ซึ่งเขียนออกมาในรูปของแผนภาพหน้าที่งานเพื่อกำหนดหน้าที่หลัก และหน่วยสมรรถนะ ทำให้ได้แผนภาพที่มีโครงสร้างเป็นแผนภาพต้นไม้ ซึ่งแยกแขนงออกเป็นอันดับ หรือระดับ ได้ 5 ระดับ ประกอบด้วย ความมุ่งหมายหลัก (Key Purpose) บทบาทหลัก (Key Roles) หน้าที่หลัก (Key Functions) หน่วยสมรรถนะ (Units of Competence) และสมรรถนะย่อย (Elements of Competence)
แผนภาพหน้าที่งาน สาขาวิชาชีพการจัดดอกไม้ (Floristry Functional Map) ประกอบด้วย 1 ความมุ่งหมายหลัก 6 บทบาทหลัก 19 หน้าที่หลัก 51 หน่วยสมรรถนะ และ 202 สมรรถนะย่อย
2. จัดทำหน่วยสมรรถนะ ในการวิจัยครั้งนี้ จัดทำหน่วยสมรรถนะจำนวน 35 หน่วยสมรรถนะ ที่มีรายละเอียดตามองค์ประกอบ ได้แก่ สมรรถนะย่อย (Elements of Competence) เกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) ขอบเขต (Range Statement) หลักฐานการปฏิบัติงานและหลักฐานความรู้ (Evidence Requirements) และแนวทางการประเมิน (Assessment Guidance)
3. จัดระดับคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพการจัดดอกไม้ (Floristry) มีการจัดระดับคุณวุฒิวิชาชีพ 2 อาชีพ ได้แก่
3.1 อาชีพช่างจัดดอกไม้แบบสากล ประกอบด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ 3 ชั้น ได้แก่
คุณวุฒิวิชาชีพ ช่างจัดดอกไม้แบบสากล ชั้น 1 ผู้ช่วยช่างจัดดอกไม้แบบสากล
คุณวุฒิวิชาชีพ ช่างจัดดอกไม้แบบสากล ชั้น 2 ช่างจัดดอกไม้แบบสากล
คุณวุฒิวิชาชีพ ช่างจัดดอกไม้แบบสากล ชั้น 3 หัวหน้าช่างจัดดอกไม้แบบสากล
3.2 อาชีพช่างจัดดอกไม้แบบไทย ประกอบด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ 3 ชั้น ได้แก่
คุณวุฒิวิชาชีพ ช่างจัดดอกไม้แบบไทย ชั้น 1 ผู้ช่วยช่างจัดดอกไม้แบบไทย
คุณวุฒิวิชาชีพ ช่างจัดดอกไม้แบบไทย ชั้น 2 ช่างจัดดอกไม้แบบไทย
คุณวุฒิวิชาชีพ ช่างจัดดอกไม้แบบไทย ชั้น 3 หัวหน้าช่างจัดดอกไม้แบบไทย
4. จัดทำกระบวนการประเมินสมรรถนะวิชาชีพเพื่อการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ
4.1 วางแผนการประเมินสมรรถนะวิชาชีพ 4.2 เตรียมการประเมินสมรรถนะวิชาชีพ
4.3 ดำเนินการประเมินสมรรถนะวิชาชีพ 4.4 รายงานผลการประเมินสมรรถนะวิชาชีพ
ผลการประเมินสมรรถนะวิชาชีพ
ในการทดลองประเมินสมรรถนะวิชาชีพการจัดดอกไม้ คุณวุฒิวิชาชีพช่างจัดดอกไม้แบบสากล มีผู้ขอรับการประเมิน จำนวน 35 คน มีผู้ผ่านการประเมินได้คุณวุฒิวิชาชีพช่างจัดดอกไม้แบบสากล ดังต่อไปนี้
คุณวุฒิวิชาชีพช่างจัดดอกไม้แบบสากล ชั้น 1 จำนวน 9 คน (ผ่านการประเมิน ชั้น 1 จำนวน 4 หน่วยสมรรถนะ)
คุณวุฒิวิชาชีพช่างจัดดอกไม้แบบสากล ชั้น 2 จำนวน 12 คน (ผ่านการประเมิน ชั้น 1 และ ชั้น 2 รวม 8 หน่วยสมรรถนะ)
คุณวุฒิวิชาชีพช่างจัดดอกไม้แบบสากล ชั้น 3 จำนวน 14 คน (ผ่านการประเมิน ชั้น 1 ชั้น 2 และ ชั้น 3 รวม 18 หน่วยสมรรถนะ)
ท่านผู้สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการและสมัครเข้ารับประเมินคุณวุฒิวิชาชีพนักจัดดอกไม้ สามารถศึกษาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ของโครงการ http://www.thaivqfloristry.org