กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ซีพีเอฟ
“ผมยึดความสำเร็จของลุงป้าน้าอาเกษตรกรกำแพงเพชรเป็นแรงบันดาลใจ จากชีวิตที่เรียกว่าเริ่มต้นจากติดลบจนกระทั่งมีวันนี้ วันที่มีรายได้ที่ดี มีอาชีพมั่นคง ลูกหลานก็ได้เรียนสูงๆ มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่ ปัจจุบันที่หมู่บ้านของเรามีคนที่เรียนจบระดับอุดมศึกษา ปริญญาตรี และปริญญาโท ซึ่งจะกลายเป็นไอดอลของเยาวชนรุ่นต่อๆมา” วีระฉัตร ย้อยรุ่งเรือง หรือที่ชาวหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร เรียกจนติดปากว่า “หมอต้น” จากเด็กน้อยเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ที่เติบโตและคลุกคลีกับอาชีพเลี้ยงหมูในหมู่บ้านนี้มาตลอด วันนี้เขาเดินตามความฝันของตัวเองจนสำเร็จและกลับมาเป็น “สัตวบาล” ผู้นำเอาวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรเพื่อให้การเลี้ยงสุกรของทุกคนพัฒนาขึ้น
หมอต้น บอกว่า เขามี “พิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย” หรือ น้าตุ๊ก ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ผู้เป็นอาเขยเป็นต้นแบบ และกลายเป็นความใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งจะต้องเดินตามรอยการเป็นสัตวบาลที่ประสบความสำเร็จในการทำงานให้ได้
“น้าตุ๊กเป็นไอดอลของผมและน้องๆหลายคน ผมเห็นน้าเขามาทำงานตั้งแต่เป็นสัตวบาลจนกลายเป็นผู้จัดการฟาร์มคอยดูแลเกษตรกรในหมู่บ้านด้วยความใส่ใจ เมื่อผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวก็ยังเป็นประธานหมู่บ้านที่ดูแลทุกคนอีก ทำให้ผมประทับใจและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเรียนสัตวบาล และคิดว่าตัวเองน่ากลับมาช่วยให้การเลี้ยงหมูของเกษตรกรพัฒนาขึ้นได้ จึงเลือกเรียนสาขาสัตวบาล ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.พิษณุโลก เมื่อจบก็มาเป็นสัตวบาลที่นี่อย่างที่หวังจริงๆ” หมอต้น กล่าว
ส่วนพิเชษฐ์ที่กลายเป็นต้นแบบของน้องๆ บอกเล่าถึงที่มาของโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ว่าเกิดขึ้นเมื่อปี 2522 ที่ตำบลเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร บนเนื้อที่ประมาณ 1,600 ไร่ โดยได้รับสนับสนุนจาก 4 หน่วยงาน คือ ส่วนราชการเมืองกำแพงเพชร ธนาคารกรุงเทพ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และเกษตรกรที่เป็นสมาชิกโครงการ 64 ราย เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรยากไร้ได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และมีโอกาสประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการปลูกพืช ตลอดจน การนำระบบการจัดการที่ครบวงจรมาใช้ในการดำเนินโครงการ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นหัวเรือใหญ่ในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้านต่างๆ ทั้งการจัดสรรที่ดินเพื่อการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกสร้างที่อยู่อาศัย โรงเรือนสำหรับเลี้ยงสุกร และทุนหมุนเวียนทั้งในด้านการเลี้ยงสุกรและการเพาะปลูก ขณะเดียวกันยังให้ความรู้ทางด้านเทคนิควิชาการสมัยใหม่งด้านการเลี้ยงสัตว์ และการเพาะปลูก พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงต่อความผันผวนด้านการตลาด
“จุดเริ่มต้นของโครงการฯ สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญต่อเกษตรกรที่ยากจน รวมถึงการให้ “โอกาส” ในการประกอบอาชีพอย่างมั่นคง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าทำให้เกิดเป็นความยั่งยืนมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปีได้จริงๆ” พิเชษฐ์ บอกและว่า
ความสำเร็จของโครงการ สะท้อนผ่านรายได้ที่สูงขึ้น จากเริ่มต้นโครงการเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 2,500-3,000 บาท/เดือน กระทั่งปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 40,000 -120,000 บาท/เดือน และยังมีอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ดี อาทิ การเลี้ยงปลาดุก การปลูกผักกระเฉดน้ำ และการจำหน่ายมูลสุกรแห้ง ทำให้มีรายได้เสริมประมาณ 60,000-70,000 บาท/ปี ที่สำคัญยังสามารถส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาที่ดี และบางครอบครัวยังได้มอบอาชีพนี้ส่งต่อแก่รุ่นลูกหลานในรุ่นที่ 3 เพื่อสืบสานอาชีพเลี้ยงสุกรให้คงอยู่ต่อไป และความสำเร็จของเกษตรกรหลายคนยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆรุ่นหลังได้เดินตาม
“สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรทุกคนเห็นตรงกันคือ โครงการนี้ทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว สมาชิกทุกคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่ต้องไปใช้แรงงานในต่างถิ่นต่างแดน เมื่อทำงานที่บ้านก็ทำให้มีเวลากับครอบครัว ที่สำคัญเกษตรกรที่นี่ไม่มีภาระหนี้สิน และไม่มีความเสี่ยงในอาชีพ แม้เราจะไม่มีเงินทองมากมายนัก แต่ทุกชีวิตล้วนพึงพอใจที่ได้ผ่านพ้นความลำบากยากแค้นในอดีต มาสู่ปัจจุบันที่ดี มีอาชีพ มีทรัพย์สิน มีคุณภาพชีวิต มีอนาคตก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง” พิเชษฐ์ บอกอย่างภูมิใจ
โอกาส...เปรียบเสมือนจักรกลสำคัญที่ค่อยๆ นำพาเกษตรกรทั้ง 64 ครอบครัวในหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ให้ก้าวผ่านวันเวลาที่ลำบากยากแค้นและขัดสน โดยใช้ความขยัน ซื่อสัตย์และอดทน แลกมา ความสำเร็จตลอดระยะเวลากว่า 35 ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นคำตอบของการมอบโอกาสและการเติมในส่วนที่ขาดของเกษตรกร โดยมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเป็นแนวปฏิบัติ ทำให้วันนี้ที่นี่ได้ก้าวสู่การเป็น “หมู่บ้านสามัคคี เทคโนโลยีทันสมัย” และกลายเป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็งอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่เกษตรกรได้ร่วมกันสร้างความสำเร็จให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ที่นี่!!!