กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น
ชวนคนไทย “Kick off ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟม ทั่วไทย” ขับเคลื่อนแนวคิดภาชนะใส่อาหารปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาคมสร้างสรรค์ไทย(ตาวิเศษ) และบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม(เกรซ) เปิดตัวโครงการรณรงค์ “Kick off ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร ทั่วไทย’ เพี่อให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน ในการตระหนักถึงอันตรายจากการใช้บรรจุภัณฑ์โฟมที่มีส่วนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง!!
นายแพทย์จิรเจษฎ์ สุขสุเพิ่ม ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลจุฬารัตน์ ๙ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งมาจากหลายปัยจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม การเลือกรับประทานอาหาร และจากการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สารพิษที่ปนเปื้อนออกมาจากภาชนะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ และไม่รู้ตัวว่าได้บริโภคสารพิษที่ปนเปื้อนออกมาจากภาชนะบรรจุอาหารโดยเฉพาะโฟม และมีการสะสมของสารพิษต่างๆแต่ละชนิดในร่างกาย อย่างการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารร้อนและมันก็จะมีสาร “สไตรีน”ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปนเปื้อนออกมาเป็นจำนวนมากและจากสถิติทางการแพทย์พบว่ามะเร็งที่พบมากในผู้ชายได้แก่ มะเร็งตับ ปอด ลำไส้และทวารหนัก ต่อมลูกหมากและมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้หญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก ปอดลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ดังนั้นการรับประทานอาหารจากโฟมต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกวันและเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการสะสมของสารพิษ จึงเป็นปัจจัยลำดับต้นที่ทำให้คนไทยเสี่ยงต่อการป่วยเป็นมะเร็งมากกว่าปกติถึง 6 เท่า เลยทีเดียว
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า กิจกรรมโครงการรณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร เริ่มต้นจาก หนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ ด่วนมาก นร ๐๕๐๕/ว(ล) ๒๓๘๘๙ ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๖ เรื่อง ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง การจัดการอันตรายจากโฟมที่ใช้สำหรับภาชนะบรรจุอาหาร โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานนำร่องในการเลิกใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารร้อนหรือมีไขมันเพื่อเป็นตัวอย่างให้ส่วนราชการอื่น – ประชาชน ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมอนามัยรับผิดชอบดำเนินการรณรงค์ฯ และทางกรมเองก็ได้เริ่มโครงการโดยดำเนินการสำรวจสถานการณ์การใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม ในโรงอาหารและตลาดนัดภายในกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าอาหารตามสั่ง อาหารสำเร็จรูปนิยมใช่กล่องโฟมบรรจุอาหาร กันอย่างแพร่หลายเพราะมีความสะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะการนำภาชนะโฟมมาบรรจุอาหารร้อน ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค กรมอนามัย
ทั้งนี้สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการ ดำเนินการสำรวจสถานการณ์การใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม ในโรงอาหารและตลาดนัดภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ ถึง วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ พบว่า ภายในโรงอาหารและตลาดนัดมีร้านจำหน่ายอาหารจำนวน ๓๑๑ ร้าน พบว่าจำนวน ๑๐๖ ร้าน คิดเป็นร้อยละ ๓๔.๐๘ ใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้ คือ ใช้บรรจุอาหารในขณะร้อน ร้อยละ ๔๑.๕๑ และบรรจุอาหารในขณะเย็น ร้อยละ ๕๘.๔๙ โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องร้อยละ ๕๓.๕๐ รองลงมาคือ ประเภทถ้วยร้อยละ ๓๒.๔๖และถาด ร้อยละ ๑๔.๐๔ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมนั้นมาจาก มีความสะดวก ราคาถูก และหาซื้อง่ายปัจจุบันด้านความรู้ ทัศนคติของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ต่อการใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมยังไม่ได้รับการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน แต่หลังจากที่กรมฯ มีการอบรมให้ความรู้แล้วผู้ประกอบการมีความตระหนักถึงอันตรายจากโฟมที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ โครงการรณรงค์ภายในกระทรวงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่ ยินดีให้ความร่วมมือในการเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม แต่ก็มีข้อเสนอในประเด็นอื่นตามมา กรณีที่ให้มีการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น เช่นใบตอง บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ชานอ้อย) กล่องกระดาษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาทางเลือกหรือช่องทางให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ราคาของบรรจุภัณฑ์ควรถูกกว่าท้องตลาด และเป็นราคาที่เหมาะสมกับราคาอาหารที่จำหน่าย ดร.นพ.พรเทพ กล่าว
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารภายในกระทรวงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีนั้นเกิดจากความร่วมมือ ของผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา โดยมุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ปรับราคาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้การรณรงค์มีภาชนะทางเลือกที่พ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการสามารถซื้อได้สะดวก และราคาถูกลง
ด้านนายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน) กล่าวเสริมว่า การหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ภาชีวะจากเยื่อพืชธรรมชาติ เป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และราคาของบรรจุภัณฑ์ โดยทางบริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (ผลิตภัณฑ์แบรนด์เกรซ) ได้ตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการคิดค้น และผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ “เกรซ ซิมเปิ้ล” ที่มาจากเยื่อชานอ้อยผสมกับเยื่อไผ่ ซึ่ง ผลิตภัณฑ์จากเยื่อพีชธรรมชาติ 100% จึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอนและราคาของสินค้ายังถูกลงกว่า เดิมถึง 50% ทั้งนี้ก็เพื่อร่วมมือ ช่วยเหลือทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ตอบรับกระแสรณรงค์ ตามนโยบายระดับชาติ
ด้านนาย สินชัย เทียนศิริ เลขานุการสมาคมสร้างสรรค์ไทย(ตาวิเศษ)ตาวิเศษ กล่าวว่า ได้มีการรณรงค์ให้มีการเลิกใช้โฟม มาตั้งแต่ปี 2536 โดยเริ่มจากกลุ่มที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันก่อน และที่เห็นผลชัดเจนมากคือ การเลิกใช้โฟมในการทำพวงหรีด โดยให้มีการใช้วัสดุอื่นทดแทน และหลังจากการรณรงค์ในช่วงนั้นจนถึงปัจจุบันจะเห็นว่า มีการเปลี่ยนวัสดุในการทำพวงหรีด โดยเลิกใช้โฟม เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
นับว่าเป็นการรณรงค์โครงการรณรงค์ “Kick off ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารทั่วไทย” ต่อยอดกับสิ่งที่ได้ทำอยู่ ทั้งนี้แนวทางในการรณรงค์ ในอนาคตข้างหน้าของตาวิเศษ ก็จะเริ่มต้นจาก ภาคี เครื่อข่าย สมาชิกของตาวิเศษ และจะมีการจับมือร่วมกับห้างสรรสินค้าต่างๆ ในการลด ละ เลิก การใช้โฟมในการบรรจุอาหารเพื่อเป็นต้นแบบให้กับร้านอาหารภายนอกห้างต่อไป นาย สินชัย กล่าวทิ้งท้าย