กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัทที่ระดับ “BBB+” โดยแนวโน้มยังคง “Positive” หรือ “บวก” ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหนี้และใช้ในการขยายกิจการ ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการก่อสร้างพื้นฐานและโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความยืดหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากความผันผวนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนความเสี่ยงของสัญญาที่มีลักษณะต่อหน่วยแบบคงที่ (Fixed-price Contract) และภาระหนี้ที่สูงของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับ “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงสัดส่วนภาระหนี้และความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจซึ่งทำให้บริษัทสามารถรับรู้มูลค่าตลาดของหุ้นของ TTW และช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่หุ้นของ CKP อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับสูงกว่า 5% และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ไม่รวมเงินกู้เพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4) ในระดับต่ำกว่า 67% หรือเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 2 เท่าต่อไปได้
บริษัท ช. การช่างก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลตรีวิศวเวทย์ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายในตลาดหลักทรัพย์ของไทย และมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างตั้งแต่งานโยธาโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงโครงการที่มีความซับซ้อนสูง บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) และ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 1 ราย คือ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL)
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 1.04 แสนล้านบาท โดยมีโครงการหลักได้แก่ โครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งมีมูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท โครงการทางพิเศษศรีรัชวงแหวนรอบนอก มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสัญญาที่ 1 มูลค่า 8 พันล้านบาท ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 43% ของมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด
ในช่วง 12 เดือนย้อนหลังจากเดือนมีนาคม 2557 สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงสอดคล้องตามประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2559 โดยจะเป็นรายได้จากโครงการเขื่อนไซยะบุรีประมาณ 8 พันล้านถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ งานรับเหมาก่อสร้างในมือจำนวนมากที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของประมาณการรายได้ อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 5% โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2557-2559
ทริสเรทติ้งมองว่าภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้รับเหมาที่ได้รับอันดับเครดิตเท่ากัน ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทเป็นทั้งผู้รับเหมาและประกอบธุรกิจลงทุน โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 70% ในกรณีที่ไม่รวมเงินกู้เพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ที่ 67% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง
คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ไม่รวมเงินกู้เพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4) ของบริษัทในช่วงปี 2557-2559 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ประมาณ 67%
ในช่วงปี 2557-2559 เงินทุนจากการดำเนินงาน (รวมเงินปันผลจาก BECL และ TTW) ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1.7 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปีและแผนลงทุนใน XPCL ประมาณ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 เงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทมีมูลค่ายุติธรรมที่ 2.13 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 54% ของภาระหนี้รวมของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นอยู่ที่ 3 พันล้านบาทและมีหนี้ระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 7.6 พันล้านบาท โดยหนี้ดังกล่าวคาดว่าจะชำระคืนด้วยรายได้จากโครงการก่อสร้างและเงินปันผลจากเงินลงทุน หรือจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่