กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
ไม่ใช่แค่เรื่องของการปราบปรามจับกุม ที่เป็นภารกิจสำคัญในกระบวนการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ แต่เรื่องของการ “ป้องปราม” ที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กับ การปราบปราม เป็นอีกหนึ่งในแนวคิดแห่งการ “ปฏิรูปกรมป่าไม้”บนเส้นทางแห่งอนาคต เส้นทางแห่งการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ที่เน้นผลให้เกิดเป็นรูปธรรม
ที่สอดคล้องไปกับการให้แนวทางนโยบายโดย “นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ” อธิบดีกรมป่าไม้ซึ่งมองถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ที่จะเป็นกำลังหลักในด้านการป้องปรามการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแนวทางสำคัญสู่เส้นแห่งการปฏิรูปของกรมป่าไม้ และเป็นแนวคิดของการป้องปราม ที่มีประสิทธิภาพที่สุด สำหรับการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม่ของไทย
บนตรรกะเหตุผลสำคัญเกี่ยวกับการ “ป้องปราม” ที่แตกต่างต่างจากการ “ปราบปราม” คือการป้องปราม นั้นช่วยไม่ให้เสียซึ่งทรัพยากร ขณะทีการ “ปราบปราม” เป็นภารกิจที่ต้องกระทำหลังจากได้สูญเสียซึ่งทรัพยากรนั้นๆ ไปแล้ว
ดังนั้นการ “ป้องปราม” จึงเป็นแนวทางสำคัญของการปฏิรูปการทำงานเพื่อให้การดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ของไทยโดยกรมป่าไม้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่นำไปสู่คำตอบจากเวทีเสวนาโต๊ะกลม “การปฏิรูปป่าไม้ไทย” โดย ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ระบุชัดถึง แนวทางการ “แก้กฎหมาย”ในหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้
หนึ่งนั้นมีแนวทางการปฏิรูปกฎหมายที่น่าสนใจ คือ การออกกฏหมายป่าชุมชนเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้ และการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการใช้ประโยชน์ส่งเสริมการปลูกไม้ป่าไม้ยืนต้นในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์
รวมถึงแนวทางของการบริหารงานป่าไม้ยุคใหม่ ที่ประชาชนจะต้องเป็นใหญ่ และเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งสองหัวข้อบนโต๊ะเสวนา เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับการป้องปรามการกระทำผิดที่มีประสิทธิภาพในการดูแลรักษาป่าไม้
เมื่องาน “ป้องปราม”เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การ “ปฏิรูปกรมป่าไม้”และเป็นภารกิจสำคัญสำหรับการดูแลทรัพยากรป่าไม้ของชาติในอนาคตที่กำลังจะมาถึง และ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” คือแนวทางที่จะนำไปสู่การบรรลุความสำเร็จในเบื้องต้น
ด้วยเหตุผลประการสำคัญ ที่ถูกหยิบยกมาบนเวทีเสวนา เกี่ยวกับ จำนวนบุคลากรในด้านนี้ของกรมป่าไม้ที่มีอัตรากำลังเพียง 2,000 นาย ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเข้ามาเป็นกำลังหลักในการดูแลทรัพยากรของชาติยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนของกรมป่าไม้ ที่จะต้องเร่งสร้างเส้นทางการปฏิรูปกฏิหมายเปิดทางสู่กระบวนการการขับเคลื่อนในภาคประชาชน เพื่อให้เข้ามามีบทบาทในการป้องปราม และสร้างแนวร่วมในการร่วมพิทักษ์ดูแลทรัพยากรป่าไม้ของชาติ จึงนับเป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจ กับการเดินหน้าสู่อนาคตของการปฏิรูปกรมป่าไม้ ที่จะเป็นความหวังในงานด้าน “ป้องปรามดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ของไทย” มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น