กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--ปตท.
กาแฟคุณภาพจากดอยอินทนนท์ สู่คาเฟ่อเมซอน พลิกฟื้นผืนป่า พัฒนาชุมชนเพื่อประโยชน์ร่วมกันของธุรกิจและชุมชนอย่างยั่งยืน
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานและร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ โครงการซื้อขายเมล็ดกาแฟดิบ ณ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนฝ่าย ปตท. ร่วมลงนาม
กาแฟอราบิก้าเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่เกษตรกรชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งโครงการหลวง โดยโครงการหลวงได้ดำเนินงานวิจัย พัฒนาสายพันธุ์กาแฟอราบิก้าที่ดีที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก เพื่อส่งเสริมแก่เกษตรกรชาวเขาในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 24 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 88 หมู่บ้าน 9,500 ไร่ มีจำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ 2,602 ครัวเรือน ผลิตผลกาแฟจำหน่ายออกสู่ตลาดกว่า 500 ตันต่อปี และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมากกว่า 40 ล้านบาท ขบวนการผลิตกาแฟโครงการหลวง เน้นการผลิตที่ปลอดภัย ด้วยวิธีการปลูกแบบผสมผสานกับพืชท้องถิ่นภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้นธรรมชาติ เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม และเป็นแบบอย่างการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
นายไพรินทร์ เปิดเผยว่า ด้วยความมุ่งมั่นของ ปตท. ในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ปตท. ได้สะสมองค์ความรู้ในการพัฒนาสังคม ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ และโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง เป็นต้น ประกอบกับความพิถีพิถันในการคัดเลือกเมล็ดกาแฟเพื่อ รสชาติและคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นของคาเฟ่อเมซอน ซึ่ง ปตท. เล็งเห็นถึงความความตั้งใจและศักยภาพในการวิจัย พัฒนาสายพันธุ์กาแฟอราบิก้าของมูลนิธิโครงการหลวง จึงนำมาสู่ร่วมมือระหว่าง ปตท. กับมูลนิธิโครงการหลวงในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดของ ปตท. ที่จะได้ร่วมสร้างสรรค์สาธารณประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่ช่วยเสริมสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาอย่างสมดุล ตามแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในมิติการพัฒนาทักษะอาชีพ การเสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน และการมีส่วนร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นโดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ในขณะเดียวกันคาเฟ่อเมซอนก็จะได้วัตถุดิบ เป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพเพื่อผู้บริโภคที่มาใช้บริการ และผู้บริโภคก็ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย ถือเป็นแนวทางดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาร่วมกับชุมชนเพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ปตท. ก่อตั้งคาเฟ่อเมซอนเมื่อปี 2545 โดยมีจุดประสงค์เริ่มแรกเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. และได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทั่วประเทศ ในปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าทั้งสิ้น 1,074 สาขา (ณ เดือนมิถุนายน 2557) และคาดว่าจะมีสาขาครบ 1,200 สาขาภายในสิ้นปี 2557 นี้ และขณะนี้คาเฟ่อเมซอนกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงคั่วกาแฟ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการพร้อมรองรับเมล็ดกาแฟจากโครงการหลวงได้ในปี 2558 ปตท. เชื่อมั่นว่าโครงการความร่วมมือนี้จะเป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถสร้างประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางที่ ปตท. ยึดถือเป็นเจตนารมณ์ในการดำเนินงานมาโดยตลอดอีกด้วย