กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--GMM Grammy
สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายสียงและวิทยุโทรทัศน์ นำทัพช่องดิจิตอลทีวีและผู้ผลิตรายการทีวีชั้นนำ เตรียมเปิดแถลงการณ์ค้านแนวทางของ กสทช.ที่เคาะราคาคูปองแลกกล่องทีวีดิจิตอล ราคา 690 บาท ไม่สะท้อนข้อเท็จจริงของราคาเทคโนโลยีกล่องที่รองรับความคมชัดแบบ HD เชื่อกระทบผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าเพิ่ม สุดท้ายการแจกคูปองแลกกล่องไม่ตอบโจทย์ผู้ชม ส่งผลแผนดิจิตอลทีวีเกิดทั้งประเทศล่าช้า ผู้ประกอบการกระอักเลือดขาดทุนยับ รวมตัวบอยคอตชะลอจ่ายค่าประมูล กสทช.
นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมด้วยตัวแทนบริษัทผู้ประมูลช่องดิจิตอลทีวีชั้นนำ บีอีซี-มัลติมีเดีย , ช่อง7, แกรมมี่, อาร์เอส, ทรูวิชั่น, ไทยรัฐทีวี, New TV, พีพีทีวี, และตัวแทนผู้จัด, ผู้ผลิตรายการแถวหน้า อาทิ กันตนา , บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น, ทีวีธันเดอร์ ฯลฯ ได้มีมติเตรียมเปิดแถลงการณ์ และยื่นจดหมายร้องเรียนต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากแนวทางการทำงานของ กสทช.โดยตรง โดยเฉพาะการประกาศกลับมายืนราคา 690 บาท ของคูปองแลกกล่องทีวีดิจิตอล ทั้งที่ผลประชาพิจารณ์ทั่วประเทศชัดเจนว่าประชาชนต้องการราคา 1,000 บาท เพื่อได้อุปกรณ์การรับชมที่มีคุณภาพดีที่สุด และเป็นราคาที่สมเหตุผลกับเทคโนโลยีความคมชัดแบบ HD สุดท้ายหากราคาคูปองไม่สอดคล้องกับกลไกตลาด ผู้บริโภคจะเดือดร้อนต้องเพิ่มเงินส่วนต่าง จะส่งผลทำให้ประชาชนเมินใช้คูปองแลกกล่อง สุดท้ายธุรกิจทีวีก็จะสะดุดทั้งอุตสาหกรรม
“นโยบายที่ล่าช้าและเปลี่ยนไปมาของ กสทช. ทำให้เวลานี้ผู้ประกอบการเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งผู้ที่เข้าประมูลช่องทีวีดิจิตอลทั้งระบบ SD และ HD ทั้งผู้ผลิตรายการ โดยเฉพาะช่อง HD ทั้งหลาย เขาไม่มีความเชื่อมั่นว่าราคาคูปอง 690 บาทจะทำให้ประชาชนเข้าถึงคุณภาพที่ดีที่สุดของระบบการออกอากาศแบบ HD ได้ จากการประชาพิจารณ์ทั้งจากภาคประชาชน และผู้ประกอบการ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าประชาชนต้องการสิ่งที่ดีที่สุด และรองรับเทคโนโลยีที่มันสมัยที่สุด คือราคา 1,000 บาท เพราะข้อมูลต้นทุนราคากล่องที่ กสทช.และฝ่ายคัดค้านได้มาเพื่อสนับสนุนราคา 690 บาทนั้น เป็นราคาของกล่องรุ่นสแตนดาร์ด หรือ SD เท่านั้น”
“และประเด็นบางกลุ่มเกรงว่า การให้ราคาคูปอง 1,000 บาทนั้น จะทำให้ราคากล่องในตลาดมีราคาสูงเกินจริง เขาไม่เข้าใจกลไกที่แท้จริงของตลาด ยิ่งเปิดการแข่งขันเสรีทั้งรายใหญ่รายเล็ก ยิ่งจะทำให้ราคาทั้งระบบถูกลง แต่ทำไมต้องไปปิดกั้นสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงคุณภาพของการรับชมที่เขาควรได้รับ”
“เงินที่ได้จากการประมูล คือเงินของผู้ประกอบการ เมื่อประมูลแล้วเขาก็คาดหวังให้ กสทช. คืนให้กับประชาชน โดยแจกให้เยอะที่สุด เร็วที่สุด ในราคาที่ทำให้ประชาชนได้ของคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีสู่ระบบดิจิตอลทั้งระบบโดยเร็วที่สุด”
“กสทช.ควรจะห่วงและฟังผู้ประกอบการที่เป็นตัวจริงในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประมูลช่อง,ผู้จัด, ผู้ผลิตรายการ เหล่านี้ พวกเราต้องการให้เกิดการรับชมทีวีดิจิตอลโดยเร็ว และเข้าถึงผู้ชมอย่างทั่วถึงอย่างมีคุณภาพเสียก่อน ส่วนอื่นๆจึงจะได้รับผลพลอยได้เกิดขึ้นตามมา แต่เวลานี้ผู้ประกอบการตัวจริงกำลังจะตายแล้ว จากการได้ข้อมูลผิดๆแล้วนำมากำหนดเป็นนโยบายโดยไม่ฟังเสียงประชาชนและผู้ประกอบการตัวจริง” นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าว
สำหรับมติของการประชุมสมาชิกและกรรมการสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพฯ มีมาตรการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการดำเนินงานของ กสทช.ด้วยการเตรียมแถลงการณ์และยื่นจดหมายถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในสัปดาห์หน้า และเตรียมยื่นจดหมายถึงกสทช.เพื่อขอชะลอการชำระค่าประมูลช่องรายการ และค่าธรรมเนียมต่างๆจนกว่าจะมีมาตรการหรือแผนงานที่ชัดเจนเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการช่องดิจิตอลทีวีที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานที่ล่าช้าของ กสทช.