BOI, NSTDA และ TESA ผนึกกำลัง 9 มหาวิทยาลัย เดินหน้าสร้าง “นักออกแบบอิเล็กทรอนิกส์” เฟส 2

ข่าวทั่วไป Saturday August 2, 2014 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--บีโอไอ บีโอไอ สวทช. และทีซา ผนึกกำลังกับ 9 มหาวิทยาลัย สร้างนักออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการพัฒนากำลังคนทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ เฟส 2 หวังพัฒนาบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ ปูทางให้ไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมฐานความรู้ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ มาลงทุนในอุตสาหกรรมฐานความรู้เพิ่มมากขึ้น นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า บีโอไอได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. (National Science and Technology Development Agency : NSTDA) และสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ ทีซา (Thai Embedded Systems Association: TESA) จะเร่งจัดทำโครงการพัฒนากำลังคนทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Thailand Electronic Design for Industry: TEDI) ประจำปี 2557 ซึ่งถือเป็นปีที่ 2 ของโครงการ หลังจากที่ได้จัดทำโครงการในปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก และประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ “อุตสาหกรรมการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่การขยายตัวของบริษัทออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ และขาดการสนับสนุนผลักดันจากทุกภาคส่วน บีโอไอ และสวทช. เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างทรัพยากรบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีจำนวนเพียงพอต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้สมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ ทีซา เป็นผู้บริหารโครงการพัฒนาบุคลากรทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความสามารถในระดับที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ” เลขาธิการบีโอไอกล่าว นายอุดมกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า อุตสาหกรรมการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอในอนาคตด้วย บีโอไอจึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยใช้เงินจากกองทุน STI (มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ STI (Skill, Technology & Innovation) ซึ่งในปีที่ผ่านมาทาง ทีซา ในฐานะผู้บริหารโครงการ ก็ได้ร่วมมือกับ 4 บริษัทชั้นนำ ได้แก่ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด บริษัท โตโยต้า ทูโช อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ไทยเจอร์เทค จำกัด ร่วมกับ ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยชั้นนำ 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งผลจากโครงการในปีที่ผ่านมานั้น ถือว่าน่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะนักออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จากโครงการแรก แม้ว่าจะเพิ่งจบใหม่ แต่มีใจใฝ่รู้ และมีความพร้อม ทำให้บริษัทมีความมั่นใจที่จะลงทุนในการพัฒนาบุคลากร และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีนับจากนี้ นอกจากนี้ บีโอไอยังมีแนวคิดที่จะตั้งหน่วยงานเพิ่มเติมภายในบีโอไอ เพื่อดูแลรับผิดชอบการพัฒนากำลังคนทางด้านนี้ และอาจจะส่งเสริมให้ทุนกับผู้ที่สนใจ และมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2- ปริญญาเอก อีกด้วย เพราะมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าประเทศไทยเรามีจุดขายเรื่องบุคลากรทางด้านนี้ ที่จำนวนมากเพียงพอ เราก็จะสร้างความเข้มแข็ง และมีศักยภาพที่สามารถดึงดูดนักลงทุน ให้มาลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมฐานความรู้ในประเทศไทยเราได้มากยิ่งขึ้น มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่ผลดี และเป็นทิศทางยุทธศาสตร์ของบีโอไออยู่แล้วด้วย ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อภิเนตร อูนากูล นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ ทีซา (TESA) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก แต่หากพิจารณาถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ และวงจรรวม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จัดว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก ทำให้มูลค่าเพิ่มที่ประเทศได้รับไม่สูงเท่าที่ควร แตกต่างจากประเทศไต้หวันหรือเกาหลีใต้ ซึ่งมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ และวงจรรวมอย่างชัดเจน จนประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี การที่จะปรับฐานะของประเทศจากการเป็นผู้ใช้งานหรือรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มาเป็นผู้นำทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ และวงจรรวม ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถปรับตัวและเร่งสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ และวงจรรวม เพื่อตอบสนองตามความต้องการของตลาดโลกได้ทัน ย่อมสามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศได้” ผศ.อภิเนตร กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการพัฒนากำลังคนทางด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ เฟส 2 ในปีนี้ ว่า มีบริษัทชั้นนำสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็นดีอาร์ โซลูชั่น จำกัด บริษัท ไซโจ เดนกิ อินเตอร์เนชั่น จำกัด บริษัท เซลิซติกา จำกัด บริษัท เวลโลกราฟ จำกัด บริษัท โฟนนิกส์ จำกัด บริษัท อินทรอนิกส์ จำกัด และบริษัท อินโคเทค ออโตเมชั่น จำกัด จึงมีการขยายห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากห้องปฏิบัติการของ 6 มหาวิทยาลัยจากโครงการแรก และได้รับความร่วมมือเพิ่มเติมจากห้องปฏิบัติการอีก 3 แห่ง จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีแผนที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ส่วนบริษัท ไซโจ เดนกิ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศชั้นนำ ก็มุ่งเน้นการออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน และสื่อสารกับผู้ใช้ได้ มีระบบการตรวจมลภาวะ และเชื้อโรคในอากาศ รวมถึงการสั่งการให้มีการฟอกอากาศ หรือการตรวจอาการของระบบเครื่องปรับอากาศ แล้วแจ้งเตือนว่าต้องทำความสะอาด หรือต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนใดบ้าง เป็นต้น บริษัท เวลโลกราฟ พัฒนาระบบการตรวจสอบสุขภาพเบื้องต้น โดยมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น และได้รับรางวัลในเวทีระดับโลกมาแล้ว จากงาน CES 2013 คือ นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) บริษัท โฟนนิกส์ จะเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อย่างเช่นตู้ชุมสายโทรศัพท์ภายในสำนักงาน โรงแรม โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม และอพาร์ทเม้นต์ เป็นต้น บริษัท อินทรอนิกส์ จะเน้นทางด้านการออกแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับบ้านอัจฉริยะ และประหยัดพลังงาน (Home Automation) รวมถึงอุปกรณ์รีโมทต่างๆ ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย บริษัท อินโคเทค ออโตเมชั่น จะเน้นพัฒนาแอพลิเคชั่นสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ขณะที่บริษัท เซลิชติกา บริษัทผู้ออกแบบอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ซึ่งกำลังขยายการลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ก็ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากไปร่วมสร้างสรรค์งานออกแบบอิเล็กทรอนิกส์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ