กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--กรมสุขภาพจิต
กรมสุขภาพจิต จัดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13 การประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กครั้งที่ 11 และการประชุมวิชาการวิกฤตสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค. 2557 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส รร.ดิเอ็มเพลส จ.เชียงใหม่ ชูประเด็น “สังคมเปลี่ยนไว ใส่ใจสุขภาพจิต” (Rapid Social Change and Mental Health) เผย ทั่วโลกประสบปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า 450 ล้านคน ขณะที่ผู้ป่วยทางจิตของไทยเพิ่มขึ้น โดยแต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านราย แนะ ใส่ใจ แบ่งปัน ผูกพัน ปรับตัว เพื่อการมีสุขภาพจิตดีท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไว
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ทุกคนมีโอกาสป่วยทางจิต แต่สามารถรักษาได้ ทั่วโลกมีผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า 450 ล้านคน ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้น คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยทางจิต เพิ่มมากขึ้น โดยแต่ละปี พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านราย โรคจิตยังคงเป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุด รองลงมา คือ โรควิตกกังวล ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ โรคซึมเศร้า และติดสารเสพติด นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้มาขอรับบริการในคลินิกคลายเครียดของหน่วยบริการสังกัดกรมสุขภาพจิตมากขึ้นทุกปี โดยปีงบประมาณ 2555-2556 มีจำนวนผู้มาขอรับบริการมากกว่าปี 2554 กว่า 3 เท่าตัว (ปี 2554 จำนวน 11,391 ราย ปี 2555 จำนวน 39,591 ราย และปี 2556 จำนวน 39,841 ราย ตามลำดับ)
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนการสื่อสารที่ไร้พรมแดน นำมาสู่ปัญหาสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น ปัญหาการหย่าร้าง ปัญหาเด็กและผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ปัญหาแม่วัยใส ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาการฆ่าตัวตายและฆ่าผู้อื่น ฯลฯ ซึ่งการจะดูว่าประชาชนในประเทศมีปัญหาสุขภาพจิตมากเพียงใดนั้น นอกจากดูสถิติการเจ็บป่วยทางจิตแล้ว อาจดูจากสถิติอื่นๆ ของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นข้างต้นได้ เช่น มีการหย่าร้างสูง ฆ่าตัวตายสูง อาชญากรรมสูง ติดสุราหรือยาเสพติดสูง ปัญหาสุขภาพจิตในประเทศนั้นก็จะสูงเช่นกัน การดูแลสุขภาพจิตตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่มีใครจะดูแลสภาวะจิตใจได้ดีเท่าตัวเราเอง โดยต้องทำเพื่อตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วจึงแบ่งปันไปสู่คนรอบข้าง ผู้ที่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม สามารถเผชิญกับปัญหาและความจริงของชีวิตได้ดี ย่อมเป็นผู้มีสุขภาพจิตดี ทุกคนจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับจิตใจ โดยการดูแลร่างกายควบคู่ไปกับการดูแลจิตใจ ตลอดจน เสริมสร้างความรัก ความผูกพันในครอบครัว ชุมชนและสังคมให้แน่นแฟ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและคนรอบข้าง สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข มีสุขภาพจิตที่ดี ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปฎิบัติงานและผู้สนใจ ทั้งในและต่างประเทศ รวม 14 ประเทศ จำนวนกว่า 800 คน จากประเทศออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย พม่า ไต้หวัน เวียดนาม เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย โดยมีการมอบรางวัล Mental Health Award รางวัลเกียรติยศ และรางวัล MCATT Award ให้กับบุคคลและหน่วยงานที่มีผลงานด้านสุขภาพจิตดีเด่น ผู้ได้รับรางวัล Mental Health Award ประจำปีนี้ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันกฎหมายสุขภาพจิต ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา กุมารแพทย์ที่ให้ความสนใจและความสำคัญกับครอบครัวในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น และ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ผู้สนับสนุนและผลักดันให้เกิดการบูรณาการงานสุขภาพจิตสู่ระบบบริการของศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. สำหรับ ผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ ศ.นพ.ประสพ รัตนากร ประเภทบุคคล ได้แก่ นายบุญศรี รัตนัง ศิลปินล้านนา ผู้ประยุกต์ดนตรีพื้นเมืองมาเป็นสื่อให้ความรู้สุขภาพจิตแก่ประชาชน ประเภทองค์กร ได้แก่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง องค์กรการกุศลสังคมสงเคราะห์ขนาดใหญ่ ศูนย์รวมคนจิตใจดี เสียสละ เป็นแบบอย่างของการสร้างคนดีในสังคม ผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ นพ.อุดม ลักษณวิจารณ์ ประเภทบุคคล ได้แก่ นางจินตนา พลมีศักดิ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สสจ.ยโสธร พัฒนางานสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องด้วยการบูรณาการงานสุขภาพจิตสู่เครือข่ายนอกระบบสาธารณสุขประเภทองค์กร ได้แก่ เทศบาลตำบลดงดำ อ.ลี้ จ.ลำพูน ดำเนินงานเชิงรุกด้านสุขภาพ น้อมนำหลักความพอเพียงมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้ชุมชนมีสุขภาพดี พึ่งตนเองได้ ส่วนผู้ได้รับรางวัล MCATT Award ระดับพื้นที่ดีเด่น ภาคกลาง ได้แก่ ทีม MCATT รพ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ทีม MCATT จ.สุรินทร์ ภาคใต้ ได้แก่ ทีม MCATT รพ.ปัตตานี (เทศบาลเมืองปัตตานี) ภาคเหนือ ได้แก่ ทีม MCATT รพ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ และรางวัล MCATT ระดับกรมสุขภาพจิต ได้แก่ ทีม MCATT รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และ รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การบรรยาย การอภิปราย การนำเสนอผลงานวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจน Workshop อาทิ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สังคมเปลี่ยนไว ใส่ใจสุขภาพจิต” โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี การบรรยาย เรื่อง “Global Crisis and Mental Health” โดย Prof. Samuel Noh ผู้เชี่ยวชาญด้าน Social and Epidemiological Research จาก Centre for Addiction and Mental Health, Department of Psychiatry, University of Toronto ประเทศแคนาดา การบรรยาย เรื่อง “The Brain and the Mind : Miracle and Mystery” โดย Prof. Walter Ling , Professor of Psychiatry and Director of Integrated Substance Abuse Programs (ISAP) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลีส (UCLA) ประเทศสหรัฐอเมริกา การบรรยาย เรื่อง “Child and Adolescent Mental Health in Rapidly Change World” โดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายและการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจ เช่น โหราศาสตร์และวิทยาการสมอง...ศาสตร์และศิลป์ของการพัฒนาจิตและพฤติกรรม” “ฆาตกรรมในครอบครัว อาชญากรหรือเหยื่อ?” “ภัยใกล้ตัว วิกฤตครอบครัวของสังคมไทย:กรณีศึกษาความรุนแรงในครอบครัวไทย” “วงจรแม่วัยใส” “Community Based Alcohol Treatment” “Autistic Care Trough The Lifespan” “Man-made Disaster : Changing pattern”ตลอดจน Workshop : การประยุกต์ละครบำบัดเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมสำหรับบุคคลพิเศษ Workshop : การให้การปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ในผู้ป่วย NCD และ Workshop : Mindfulness Based Therapy and Counseling เป็นต้น อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว