ปตท. ลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่ง JDA แปลง B17, C19 และ B17-01 เสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday June 17, 2005 08:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--ปตท.
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , Y.Bhg Tan Sri Abu Talib Othman ประธานองค์กรร่วม ไทย — มาเลเซีย (ฝ่ายมาเลเซีย) และ นายศิววงศ์ จังคศิริ ประธานองค์กรร่วม ไทย — มาเลเซีย (ฝ่ายไทย) ร่วมกันเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย — มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area : JDA) แปลง B17 , C-19 และ แปลง B-17-01 ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มผู้ขาย ซึ่งประกอบด้วย Malaysia — Thailand Joint Authority (MTJA) , PC JDA Limited (PCJDAL) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทน้ำมันแห่งชาติมาเลเซีย หรือ เปโตรนาส และ บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PTTEP International Limited : PTTEPI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศในอนาคตด้วย โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นผู้ลงนาม กับกลุ่มผู้ขาย ซึ่งประกอบด้วย Mr. Zarei Mohamed Chief Executive Officer, MTJA , Mr. Mohamad Johari Bin Dasri Director, PCJDAL และ นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ.
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยและมาเลเซีย มีนโยบายที่จะร่วมมือกันพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างประเทศไทย และมาเลเซีย (JDA) เพื่อที่จะนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งนับตั้งแต่ที่ได้มีการก่อตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ความร่วมมือและความพยายามของทุกฝ่ายได้ดำเนินเรื่อยมา จนสามารถบรรลุความสำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 โดย ปตท. และ เปโตรนาส ได้ร่วมกันซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA แปลง A18 เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในประเทศไทยและมาเลเซีย ดังนั้น การลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จากแปลง B17 & C19 และ B17-01 ในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ จากพื้นที่ JDA ทั้งหมด อีกทั้งเป็นหลักประกันว่าประเทศไทยและมาเลเซียจะคงรักษาความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ JDA เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศสืบต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากภาวะวิกฤตราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงได้มีนโยบายในการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ผลิตได้เองในประเทศ ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และ การขนส่ง เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ มีราคาที่สามารถแข่งขันได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น การลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของ ปตท. ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต โดย ปตท. สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศได้ตลอดเวลา ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแล้ว ยังจะช่วยทำให้ประเทศสามารถประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันที่ปัจจุบันได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนพัฒนาแหล่งก๊าซฯ จากแหล่ง JDA ทั้งแปลง A18 และ B17 ในรูปของค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ส่วนแบ่งกำไรปิโตรเลียม และ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ประมาณ 320,000 ล้านบาท (8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้เปิดเผยสาระสำคัญของสัญญาฯ ว่า ปริมาณสำรองก๊าซฯ เริ่มต้นเท่ากับ 1.95 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดย ปตท. จะเริ่มรับก๊าซฯในกลางปี 2551 ในปริมาณเริ่มต้นเท่ากับ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นเวลา 10 ปีแรก และ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วง 6 ปีถัดไป อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2553 — 2555 ปริมาณซื้อขายก๊าซฯ จะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ถึง 470 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถ้ามีปริมาณสำรองก๊าซฯ รองรับ ซึ่งผู้ขายก๊าซฯ สามารถแจ้งผลการประเมินปริมาณสำรองก๊าซฯ ได้ในปลายปี 2550 นอกจากนี้ ปตท. จะได้รับส่วนลดราคาร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 20 ตามปริมาณซื้อก๊าซฯ สะสมที่เพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ โดยส่วนลดราคาจะถึงขั้นสูงสุดที่ร้อยละ 20 เมื่อมีปริมาณซื้อก๊าซฯ สะสมเกินกว่า 1.8 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ทั้งนี้ ราคาก๊าซฯ ของแปลง B17 โดยเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับระดับราคาเฉลี่ยของก๊าซฯ ในอ่าวไทย มูลค่าซื้อขายก๊าซธรรมชาติตลอดอายุสัญญาเป็นเวลา 20 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 370,000 ล้านบาท (สมมุติฐานราคาน้ำมันเตา 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)
ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯจากพื้นที่ JDA มาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จากแหล่ง JDA แปลง A18 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2542 ซึ่ง ปตท. และ เปโตรนาส
เป็นผู้ร่วมซื้อก๊าซฯ โดยมีปริมาณซื้อขายก๊าซฯเริ่มต้นที่ 390 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และต่อมาได้มีการลงนามสัญญาซื้อก๊าซฯ จากแปลง A18 ฉบับเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 เพื่อซื้อขายก๊าซฯ ในระยะที่ 2 จำนวน 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่ช่วงปี 2550 - 2551 จึงรวมเป็นปริมาณซื้อก๊าซฯ จากแปลง A18 เท่ากับ 790 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยทั้งนี้ เปโตรนาสจะเป็นผู้ใช้ก๊าซฯ ในระยะที่ 1 ส่วนปริมาณก๊าซฯ ในระยะที่ 2 จะเป็นของ ปตท. สำหรับปริมาณก๊าซฯ ส่วนเพิ่มในระยะที่ 3 จะมีปริมาณไม่เกิน 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสำรองก๊าซฯ โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในช่วงปี 2553 — 2555 ซึ่ง ปตท. และ เปโตรนาส จะได้มีการหารือกันเพื่อแบ่งสรรปริมาณก๊าซฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในประเทศไทยและมาเลเซียต่อไป
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวเสริมว่า ปตท. มีนโยบายในการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอและทันเวลากับความต้องการใช้ก๊าซฯ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบัน ปตท. ได้เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 3 ตามแผนแม่บทท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544 - 2554 (ปรับปรุง) เพื่อขยายขีดความสามารถในการส่งก๊าซฯ ไปถึงลูกค้าที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยท่อส่งก๊าซฯ ในทะเล เส้นที่ 3 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 42 นิ้ว สามารถส่งก๊าซฯ สูงสุดได้วันละประมาณ 1,900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีระยะทางจากชายฝั่งจังหวัดระยองถึงพื้นที่พัฒนาร่วม JDA ประมาณ 730 กม. ซึ่งจะใช้ส่งก๊าซฯ จากแหล่งต่างๆ ในอ่าวไทย เช่น แหล่งก๊าซฯในพื้นที่นวมินทร์ ตลอดจนแหล่งก๊าซฯ JDA แปลง A18 และ แปลง B17 ที่ได้มีการลงนามสัญญาฯ ในวันนี้ โดยคาดว่าโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ จะต่อเชื่อมไปถึงแหล่ง JDA แปลง A18 ในปลายปี 2549 และ แปลง B17 ในต้นปี 2551
โทรศัพท์ 0-2537-3217
ส่วนประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
โทรสาร 0-2537-3211
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ