กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สยามเมนทิส
ซัมซุง เปิดผลการดำเนินโครงการเพื่อสังคม Samsung Smart Learning Center ปีที่ 1 ชูความสำเร็จ “ต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต” ครั้งแรกกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในบริบทประเทศไทย หลังทดลองนำร่องในโรงเรียน 10 แห่ง พร้อมขยายผลต่อ ตั้งเป้า 40 โรงเรียน ภายในปี 2558
หลังจากดำเนินโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้แห่งอนาคต โครงการเพื่อสังคมของซัมซุงที่มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กไทย มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 โดยจัดสร้าง Samsung Smart Learning Center ที่นำนวัตกรรมของซัมซุงและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นธงนำในการจัดกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในโรงเรียน ที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้วในโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง จนเกิดเป็นโมเดลใหม่ในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเหมาะสมและใช้งานได้จริงในประเทศไทย ที่พร้อมจะขยายผลสู่โรงเรียนทั่วประเทศ
นางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า โครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 25 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนนำร่อง ปีที่ 1 จำนวน 10 แห่ง และโรงเรียนต้นแบบในปีที่ 2 จำนวน 15 แห่ง และตั้งเป้าที่จะขยายสู่โรงเรียน 40 แห่ง ภายในปี 2558 โดย Samsung Smart Learning Center ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง เป็นห้องเรียนที่ก้าวข้ามข้อจำกัดในการเรียนแบบเดิมที่เด็กเป็นผู้รับ (Passive Learner) ครูเป็นผู้บรรยาย สู่กระบวนทัศน์ในการจัดการศึกษาใหม่ที่เด็กมีส่วนร่วม (Active Learner) และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self Learner) ที่เด็กจะสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ สร้างสรรค์ผลงานจากการศึกษาค้นคว้าของตัวเองในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ผ่านการจัดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (Interactive Learning) และการทำงานเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านข้อมูลสื่อและเทคโนโลยี
ในการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นความพยายามของซัมซุง โดยความสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีของซัมซุงไปสนับสนุนการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 กับผู้เรียน ให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ การทำธุรกิจ การใช้ชีวิตในอนาคต และถือเป็นครั้งแรกที่ซัมซุง ได้นำกรอบความคิด การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในระดับสากล และนวัตกรรมของซัมซุง มาพัฒนาเป็นต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต เพื่อสร้างโมเดลการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย
“เทคโนโลยีใหม่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้แบบที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้ ถ้ายังเรียนด้วยวิธีเรียนและวิธีการสอนแบบเดิม ในการดำเนินโครงการจึงให้ความสำคัญการสร้างต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบสนับสนุนและการจัดการศึกษารอบด้าน โดยให้เหมาะสมกับโรงเรียนในประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างต้นแบบการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐาน” นางสาวศศิธรกล่าว
ในการดำเนินโครงการ Samsung Smart Learning Center จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสนับสนุนในการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 อย่างรอบด้าน ประกอบด้วย 1. สร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ - ด้วยการออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้สามารถทำงานรวมกลุ่ม สามารถสร้างสรรค์ และนำเสนอผลงาน 2.การเข้าถึงเทคโนโลยี - ด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีสามารถสืบค้นข้อมูล ผลิตสื่อ และเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Mobility) โดยไม่จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน 3. หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 ที่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) เพื่อให้เด็กฝึกตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ค้นหาคำตอบ และเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง 4. การพัฒนาครู ด้วยการปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน โดยเปลี่ยนครูจากการเป็นผู้บรรยาย สู่การสนับสนุน และเรียนรู้ร่วมกันกับเด็ก 5. เตรียมความพร้อมเด็ก – ให้ทดลองการเรียนในวิธีใหม่ ให้พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง 6. การวัดและประเมินผล - ตามแนวทางศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนจากการที่ครูเป็นผู้ประเมินให้เด็กเป็นผู้ประเมินตนเอง
การสร้างต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง จึงเป็นมากกว่าการสร้างห้องเรียน แต่มีกระบวนการตั้งแต่การสร้างสภาพแวดล้อมใหม่และให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม ด้วยการจัดสร้าง Samsung Smart Learning Center ในโรงเรียน พร้อมให้การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้แบบ Problem Based Learning กับผู้บริหาร ครู และนักเรียน ก่อนที่เด็กและครูจะได้เรียนรู้ร่วมกันจากการทำโครงการแก้ปัญหาสังคมของเด็กๆ และสื่อสารการค้นพบผ่านการเล่าเรื่องด้วยสื่อดิจิตอล (Digital Storytelling) โครงการยังมีวิธีการประเมินผลและติดตามผล ด้วยการวิจัยแบบ Narrative Research ที่ให้เด็กประเมินการค้นพบและเกิดการพัฒนาตนเอง เมื่อเกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากกระบวนการเรียนรู้ใหม่ จึงนำมาสู่การบูรณาการในหลักสูตร วิชา หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามความเหมาะสม จนเกิดโมเดลการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ในแบบที่เหมาะสมและพึ่งพาตนเองได้ อาทิ ต้นแบบจากโรงเรียนบ้าน-หมี่วิทยาคม จ.ลพบุรี ที่นำไปบูรณาการในวิชาวิทยาศาสตร์, โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น ที่นำกระบวนการและสื่อดิจิตอล ไปพัฒนาต้นแบบการเรียนรู้ในเด็กคละชั้นเรียน ซึ่งเป็นเด็กที่มีการเรียนรู้ช้ากว่าปกติ และโรงเรียนอนุบาลบ้านบางละมุง จ.ชลบุรี นำไปใช้ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่สามารถช่วยให้เด็กที่มีทักษะการอ่านออกเขียนได้ต่ำกลับมาสนใจการเรียนรู้ เป็นต้น
ผลจากการดำเนินโครงการสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็ก โดยพบว่าทักษะสำคัญที่ได้รับการพัฒนา 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. การคิดริเริ่มและสานงานต่อ 2. ทักษะสังคม 3. การบริหารเวลาและความรับผิดชอบในงาน ส่วนผลที่เกิดขึ้นกับครู จากการติดตามผลพบว่ามีความเข้าใจกับการเรียนการสอนในกระบวนทัศน์ใหม่ในฐานะที่ปรึกษาและเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กมากกว่าที่เคยเป็น จากการดำเนินโครงการในปีที่ 1 มีเด็กที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 13,761 คน และคาดว่าในปีที่ 2 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 25,877 คน โดยโครงการนี้ตั้งเป้าจะสร้างประโยชน์ให้เด็กจากการใช้ห้องเรียนแห่งอนาคต ให้ได้ถึง 50,000 คน ภายใน 3 ปี
“ซัมซุง เชื่อมั่นในการค้นพบที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำโครงการเพื่อสังคมของเราก็สอดคล้องกับความเชื่อนี้ เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพซ่อนอยู่ ที่รอการค้นพบและสร้างความเป็นไปได้ จากการทำโครงการในปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เราเห็นว่าเด็กๆ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ในเมืองหรือในพื้นที่ห่างไกล ถ้าเราเปิดโอกาสเขาจะค้นพบศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21” นางสาวศศิธรกล่าวในที่สุด