กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง จัดงานสัมมนาใหญ่หวังให้บุคคลในบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจและให้ข้อเสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ โดยมีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ เมื่อวันจันทร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรม สวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ให้เข้ามาอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกำกับดูแล (บัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญฯ) และพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๕๖ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๔๓ กำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกำกับดูแล สำหรับโครงการการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ดังกล่าว นั้น
สคร. จึงจัดสัมมนาเกี่ยวกับหลักการ และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๕๖ และกฎหมายลำดับรองที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมถึงความคืบหน้าในการจัดทำกฎหมายลำดับรองอื่นๆ โดยมี ดร. เสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) เป็นวิทยากร และนางญาใจ พัฒนสุขวสันต์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย เป็นวิทยากร ในส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือก และคณะกรรมการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๕๖ และกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความคาดหวังในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ
และในส่วนแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานเจ้าของโครงการในการแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญฯ แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคคลในบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์ และนายณัฐวุฒ ไพศาลวัฒนา นิติกรชำนาญการพิเศษ เป็นวิทยากร
อนึ่ง กระทรวงการคลัง โดย สคร. มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่งเสริมและสนับสนุนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสเชื่อถือได้และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ เพิ่มความคุ้มค่าในการดำเนินกิจการ เพิ่มอำนาจรัฐในการพัฒนาประเทศในส่วนอื่นๆ ผ่านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐและกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน